PSU: Cultural Studies Group

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

The gleaner and I: รู้จักใช้จะได้ไม่ผลาญโลก

The Gleaners โดย Jean Francois Millet

โฮมเธียร์เตอร์จอใหญ่กลางโถงห้องโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่หรือนาฬิกา ควอตส์ที่แขวนอยู่บนข้อมือ ลองถามตัวเองเล่นๆ ดูว่า หากวันนี้ของที่กล่าวนั้นใช้การไม่ได้ เราจะจัดการอย่างไรกับมัน

“ทิ้ง” คงเป็นคำตอบแรกๆ ที่เรานึกได้ ส่วนคำว่า “ซ่อม” คงเป็นคำที่เราหลงลืมไปแล้วใน ปัจจุบัน ไม่แปลกแต่อย่างใดกับภาวะขยะล้นเมือง การจัดการด้านสุขาภิบาล ถูกบรรจุหลักสูตรไว้ในสถาบันการศึกษาระดับสูงในวันนี้ เมื่อวิถีของโลกแบบบริโภคนิยม สร้างค่านิยมให้เราเลือกใช้แต่สิ่งที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด มีมาตรฐานที่เชื่อถือได้ สิ่งไหนไม่เข้าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ก็เท่ากับว่าไร้ค่า

จึงมีคำถามต่อว่า ของที่เราคิดว่า “เหลือใช้” นั้นควรคู่กับการสุมกองรวมกันที่ถังขยะเท่านั้นหรือสารคดีเชิงทดลองเรื่อง The gleaner and I คงเกิดจากคำถามคล้ายกันนี้ “แอ็กเนส วาร์ดา” ผู้กำกับหญิงชาวฝรั่งเศส วัย 72 ปี ได้คลี่พฤติกรรมดังกล่าวให้เราได้เห็น

The gleaner and I เป็นสารคดีในรูปแบบที่เรียบง่าย ตามแนวทางสารคดีแบบ Realism แต่แฝงไว้ด้วยความลึกซึ้ง เธอเริ่มตั้งคำถาม ต่อความหมายของคำว่า “glean”ด้วยการสืบค้นผ่าน Encyclopedia ซึ่งได้คำตอบว่าหมายถึง การเก็บของเหลือใช้ของชาวฝรั่งเศส ส่วน “gleaner” หมายถึง คนเก็บของเหลือใช้ ซึ่งจะกระทำภายหลังจากการเก็บเกี่ยวได้เสร็จสิ้นลง อีกนัยหนึ่งหมายถึง ความมัธยัสถ์ของชาวฝรั่งเศสอันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาชั่วนาตาปี

“แอ็กเนส วาร์ดา”
Agnès Varda นำเสนออย่างเข้าใจเพื่อค้นหาความหมายของคำว่า “gleaner” ว่าปัจจุบันกาลเวลา ได้นำพาให้ความหมายเปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร สอดแทรกแทรกด้วยอารมณ์ขันที่หยอกเอินกับความร่วงโรยของสังขารอย่างคมคาย

“แอ็กเนส วาร์ดา” กับมุมมอง “gleaner”
วาร์ดา ใช้มุมมองของตนเองในการตีความ ในระดับการรับรู้แบบจิตพิสัย (Subjectivity) ที่หลายๆ คนมองข้ามไปและเป็นเรื่องที่ไม่ใคร่น่าสนใจสักเท่าไหร่ แต่ วาร์ดา กลับใช้มุมมองในระดับที่ลึกขึ้น โดยพยายามจะสื่อให้ผู้ชมได้รับรู้ความงามในระดับ สัมพัทธ์พิสัย (Relativism) ที่มนุษย์กับวัตถุ ต่างมีความพร้อมในการรับรู้ความงามอย่างเสมอกันด้วยข้อมูลต่างๆ ที่มาสนับสนุนให้คล้อยตาม โดยไม่เทน้ำหนักไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป The gleaner and I จึงมีความหมายจากหลายมิติและหลายระดับ จากจุดยืนหลายๆ ปีก ไม่ว่าจะเป็นจาก Encyclopedia ที่เป็นเอกสารอ้างอิง, จากภาพวาด, นักกฎหมาย และ gleaner แบบต่างๆ

หากเราดูหนังทั้งเรื่องจบ แล้วจับมันมาแยกออกเป็นชิ้นๆ เพื่อให้เห็นโครงสร้างอย่างเลาๆ เราคงพอจะนึกตามเนื้อเรื่อง และเห็นความสัมพันธ์ 2 ระดับที่ วาร์ดา ได้วางเอาไว้ ภายใต้บริบทของสภาพสังคมแบบ หลังอุตสาหกรรม (Post - Industrial) อันมีภาค การผลิต และภาคการบริโภค เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ

ในระดับที่ 1 เป็นระดับของภาคการผลิต The gleaner and I พาเราให้สัมผัสกับพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ อันได้แก่ ไร่มันฝรั่งขนาดใหญ่ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบ Mass Production ทำให้ทุกอย่ามีมาตรฐานทางการผลิต โดยมีเครื่องจักรเป็นเครื่องมือหลักในการคัดแยก ขนาดของผลผลิตที่ป้อนสู่โรงงานเป็นสิ่งสำคัญ มันฝรั่งที่ไม่ได้ขนาด จะไม่ผ่านการควบคุมคุณภาพ ขนาดที่เล็กหรือใหญ่เกินขนาด จะถูกคัดแยก ทั้งๆ ที่คุณภาพหรือคุณค่าทางอาหารไม่ได้แตกต่าง ในระดับนี้ความหมายของ gleaner จึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมสักเท่าใดนัก gleaner ยังคงมีความคล้ายกับความหมายในอดีต ที่ยังสามารถเก็บเกี่ยวใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้นได้ ยังคงได้รับการยอมรับในสังคมนั้น

ระดับที่ 2 คือระดับของภาคการบริโภค อันเป็นปัจจัยสำคัญของชนชั้นกลาง ที่ไม่มีฐานการผลิตเป็นของตนเอง การดำรงชีพจึงขึ้นอยู่กับการซื้อ-ขาย เป็นหลัก ระบบการผลิตแบบ Mass Production ทำให้ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มีราคาถูกลง สิ่งของเหลือใช้หรือไร้ประโยชน์ (ในความหมายของสังคมบริโภค) จะถูกนำไปทิ้งเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ยังมีมูลค่าบางอย่างอยู่ แต่ผู้บริโภคไม่สามารถนำมาปรับปรุงหรือซ่อมแซมได้ด้วยตนเอง อีกทั้งค่านิยมในเรื่องการบริโภคของใหม่ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ จะมีคุณค่ามากกว่า ความหมายของ ของเหลือใช้จึงมีค่าเพียง “ส่วนเกินจากการผลิต” หรือ “ขยะ” เท่านั้น ความหมายของ gleaner ภายใต้บริบทนี้จึงเปลี่ยนไป ไม่ได้หมายถึงนิสัยมัธยัสถ์ของชาวฝรั่งเศสที่ยึดถือมานานอีกต่อไป การ glean จึงเกี่ยวโยงกับผู้ยากไร้และไม่มีอันจะกินในเมืองใหญ่ต้องเก็บหาอาหารมากินจากถังขยะ หรือเก็บอุปกรณ์บางอย่างที่ยังใช้งานได้ดีมาใช้

The gleaner and I ได้ฉายภาพให้เห็นว่า สังคมบริโภคในปัจจุบันล้วนผลาญทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย ตอนหนึ่ง วาร์ดา ฉายให้เห็นว่า ในถังขยะหลังซุปเปอร์มาร์เก็ต ยังมีเนื้อไก่ที่แพ็คอย่างดีและผลไม้ที่ยังไม่ช้ำ สามารถกินได้โดยไม่เกิดอันตราย ถูกทิ้งอย่างมากมาย

The gleaner and I กับการเล่าเรื่อง
วาร์ดา มีวิธีการเล่า ด้วยการเริ่มต้นเล่าเรื่อง ผ่านการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารก่อน โดยเริ่มลำดับ “นิยาม” ความหมายของสิ่งที่ตนอยากรู้และอยากศึกษา ลำดับมาตามแนวทางประวัติศาสตร์ (Chronological) แล้วจึงลงสัมผัสถึงระดับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ มีการนำวิธีการแบบ Snowballing Technique มาใช้การสืบค้นข้อมูลต่อไปเรื่อยๆ เพื่อดูถึงความเปลี่ยนไปในความหมายของ “gleaner” ว่าแปรเปลี่ยนไปตามแต่ละบริบทอย่างไร

การเล่าเรื่องของ วาร์ดา เป็นแบบผสมผสาน (Multinarrator) โดยเรื่องเล่าจะขึ้นเปิดมาด้วยแบบ Homodiegetic ที่ วาร์ดาเธอเป็นคนเล่าเรื่องเอง แล้วจึงใช้ การเล่าแบบ Heterodiegetic ที่ให้ Key Informant ต่างๆ คอยให้ข้อมูล เพื่อแสดง positioning ของตนเองว่าเป็น “นักเรียนน้อย”
ที่ต้องการจะเรียนรู้เรื่องนั้นอย่างแท้จริง อีกทั้งยังบอกกับผู้ชมอย่างเป็นนัยๆ ว่า ตนไม่ได้เป็นผู้ที่รู้ในเรื่องนี้ดีไปทั้งหมด

หากย้อนกลับไปดูในหนังในช่วงต้นๆ เมื่อ วาร์ดา รู้ความหมายของ “gleaner” เธอได้ทำการเปรียบเทียบตัวเองด้วยว่า เธอก็คือ “gleaner”เช่นกัน ด้วยการวางฟ่อนข้างบาร์เลย์ที่ทูนหัวลงแล้วหยิบกล้องแฮนดี้แคม ขึ้นมาแทนและหมายรวมไปถึงคนที่ทำงานสารคดีอื่นๆ ด้วย โดยการ “เก็บ” อาจไม่จำเป็นต้องเป็นแค่วัตถุเท่านั้น แต่อาจจะเป็นความรู้หรือประสบการณ์ก็ได้

ในระหว่างที่เรื่องกำลังดำเนินไป วาร์ดา จะพยายามการจัดหมวดหมู่ (Categories) ของสิ่งที่เธอเล่าให้เราอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ให้เรารู้ตัว ตั้งแต่ วัฒนธรรมการ “glean”ตั้งแต่อดีตถึง ปัจจุบัน ทั้งในสังคมชนบท, เกษตรกร, ยิปซีผู้เร่ร่อน, สังคมเมือง, ผู้อพยพ, ชนชั้นกลาง, คนทำงานศิลปะ พวกต่อต้านสังคม หรือผู้ซึ่งเลือกวิถีการดำเนินชีวิตของตัวเอง โดยเชื่อมต่อเนื้อเรื่อง เข้าด้วยกันด้วยการเดินทาง โดยใช้ท้องถนนแทนคำบรรยาย

การเล่าเรื่องของเธอ จะดูราวกับว่าได้เล่าเรื่องไปเรื่อยๆ เหมือนไม่ได้กำหนดโครงสร้างเอาไว้ แต่เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า เรื่องได้ถูกวางโครงสร้างมาเป็นอย่างดี ด้วยการลำดับความหมายของ “gleaner” ตั้งแต่อดีตจนปัจุบัน ความหมายได้เปลี่ยนไปอย่างไร และมีปัจจัยอะไรบ้างที่สนับสนุนให้ความหมายนั้นเปลี่ยน

โดยทัศนะส่วนตัว ผู้เขียนคิดว่าการตั้งชื่อเรื่อง The gleaner and I เป็นการแสดง ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่ง วาร์ดา เธอออกไปพบ และนำกลับมาเปรียบเทียบกับตัวของเธอเอง ซึ่งอาจจะสรุปได้ว่า “gleaner” กับตัวเธอเองนั้น ไม่ได้มีความแตกต่างกันแต่อย่างใดเลย ชื่อเรื่องจึงเป็นเป็นการบ่งบอกถึง “อัตลักษณ์” ของตัวเธออีกนัยหนึ่งด้วย

หากเราถามต่อว่า วาร์ดา ได้เก็บเกี่ยวอะไรให้กับเราบ้าง หลายๆ ครั้งในเรื่องราวที่เธอนำเสนอ เธอได้นำมุมมองที่หลายๆ คนมองข้ามทั้งๆ มีอยู่ดาษดื่นในสังคม จนถูกมองข้ามและหลงลืมแทบจะตกขอบความสนใจของสังคมนี้ไปด้วยซ้ำ ด้วยเหตุผลนี้ทำให้นักเรียนการสื่อสารอย่างเราได้ตระหนักต่อการเลือกมุมมองในนำเสนอและผลิตรายการสารคดีว่า ความสำคัญของสรรพสิ่งรอบตัวที่ธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวัน (Daily life) ว่าเป็นเรื่องที่มิอาจจะมองข้าม The gleaner and I จึงมีคุณูปการในการเปิดมุมมองของการผลิตรายการสารคดี ให้กลับมามีชีวิตชีวาและสร้างสรรค์

วาร์ดา ยังเป็นนักเล่าเรื่องที่มีอารมณ์ขันอย่างมาก บ่อยครั้งในสารคดีของเธอ เราจะเห็นการหยอกล้อกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการพยายามหวีผมปกปิดสีขาวที่รุกล้ำศีรษะมาตามอายุขัย ภาพของมือที่เหี่ยวย่นด้วยภาพแบบ Close up และภาพของนาฬิกาที่ไม่มีเข็มบอกเวลา ที่มีใบหน้าเธอค่อยๆ วิ่งผ่านด้านหลัง ราวกับจะบอกว่าหากเวลาหยุดหมุนได้ก็คงดี ไม่รวมเพลงประกอบสารคดีที่เป็นเพลงแร็พ แทนที่จะเป็นเพลงคลาสสิค ตามขนบของสารคดี ซึ่งก็พอที่จะเดาได้ว่าเธอเป็นคนร่วมสมัยที่สนใจความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยอยู่ตลอดเวลา อันเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของการทำงานสารคดีและงานสื่อสารมวลชนอีกด้วย

นอกจากนี้เธอ ยังได้หลุดกรอบแนวคิดการทำสารคดีในระดับหนึ่ง เห็นได้จากตอนหนึ่งของเรื่องที่ปล่อยให้ฝาครอบกล้องขนาดพกพาของเธอ แกว่งเข้ามาในกรอบภาพ นัยว่า เป็นความสมจริงสมจัง แต่อีกนัยหนึ่งก็เป็นการกระทบกระเทียบการผลิตสารคดีว่า แม้การทำงานจะมุ่งนำเสนอความจริงแต่การตบแต่งให้ภาพดูดีตลอดเวลาก็ยังเป็นที่ต้องการ

สิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกอีกประการก็คือ วาร์ดา กำลังจะบอกอยู่ตลอดเวลา ภายใต้การหยอกล้อกับอายุของตัวเธอเองนั้นก็คือ ภาพของมือเหี่ยวย่น ที่สร้างกรอบกลมๆ ด้วยนิ้วชี้และหัวแม่มือ เหมือนกับจะบอกกับเราว่า อย่าหยุดที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากโลก อย่าหยุดความเข้าใจต่อโลกใบนี้ แม้ว่าเวลาจะพาอายุเราให้ล่วงเลยไปแค่ไหนก็ตาม เพราะการ glean คือพรแห่งธรรมชาติที่มอบให้แด่มนุษย์เพื่อความเข้าใจในสรรพสิ่ง


วัฒนธรรม ‘กาแฟ’ เมืองตรัง

คนตรังเป็นคนช่างกิน คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลยไป ชาวตรังสนใจการกิน การอยู่ ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ดี เงินทองคล่องมือ จึงจับจ่ายใช้เก่ง ผู้ที่มาเยือนจึงได้ยินชื่อเสียงด้านการกินอยู่ ไม่มีถนนสายไหน ที่ไม่มีร้านกาแฟและร้านอาหาร ถนนทุกสายจึงเน้นเรื่องกินเข้าว่า พูดไปจะหาว่าโม้ คนตรังกิน 5-6 มื้อในแต่ละวัน เริ่มตั้งแต่เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำและดึก คนตรังจึงกินจริง - กินจัง

ร้าน “โกปี๊” ชื่อสำเนียงจีนปนปักษ์ใต้โดยนัยคือร้านกาแฟ แต่ที่มากกว่านั้น คือเป็นร้านแบบพันธุ์ทาง ที่จะขายกาแฟเป็นหลักและมีอาหารหนักทั้งบะหมี่ โจ๊ก ก๋วยเตี๋ยว ข้าวและติ่มซำ ประกอบอยู่ในร้านเดียวกัน ความพิเศษของร้านกาแฟในเมืองตรังก็คือ มีขนมและเครื่องเคียงมากมาย ถ้าคุณสั่งกาแฟแก้วเดียว อาหารอื่นๆ จะระดมมาเต็มโต๊ะ ตั้งแต่ขนมจีบ ซาลาเปา ขนมประเภทนึ่งทอดปิ้ง ปาท่องโก๋ และที่ขาดไม่ได้คือ หมูย่างรถเด็ด หลายๆ คนงงกับสูตรการกินแบบนี้ กาแฟกับหมูย่างเข้ากันได้อย่างไร ผมก็ตอบไม่ถูก ได้แต่บอกว่าให้ลองดูแล้วจึงจะติดใจ หลายๆ คนก็แปลกใจอีกนั่นแหละที่บอกว่าไม่ได้สั่ง แต่ทำไมของยังมากันเพียบ คุณกินเท่าไหร่ เขาก็คิดราคาเท่านั้นครับ

พูดถึงหมูย่างตรังในอดีตใช่จะหากันกินได้ง่ายๆ อย่างทุกวันนี้ ด้วยเพราะแตกต่างจากหมูหันหรือหมูอบอย่างสิ้นเชิง หมูย่างตรังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หนังกรอบ รสชาติดีเยี่ยม มีกลิ่นเครื่องเทศและสมุนไพรเจืออยู่บางเบา กรรมวิธียุ่งยากและซับซ้อน ใช้หมูขนาดเล็กคือ 30-40 กก. ย่าง อบ ด้วยความร้อนสูงทั้งตัว จนน้ำหนักหายไปกว่าครึ่ง หมูย่างไม่ใช่จะอยู่แต่ตามร้านกาแฟอย่างเดียว แต่กลับไปขึ้นโต๊ะตามงานต่างๆ ทั้งงานแต่ง งานตรุษ งานเลี้ยงแขกพิเศษ ไปจนถึงงานอวมงคลเช่นงานศพ ใครต่างก็ต้องการที่จะมาชิม จนจังหวัดต้องจัดเทศกาลให้ทุกปลายเดือนกันยายน

ถ้าวัฒนธรรม หมายถึง ระบบความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ที่เกิดจากอาหารการกิน ก็คงจะเอามาอธิบายวัฒนธรรมทางการกินของคนตรังได้ เพราะชาวตรังมีชาวจีนเข้ามาลงหลักปักฐานในเมืองไทยมากมาย การกินหลายมื้อของคนจีน เป็นผลมาจากการเพาะบ่มทางวัฒนธรรมของคนจีนในเมืองตรังยุคบุกเบิก

ด้วยความที่เป็นกลุ่มคนจีนที่มาจากดินแดนโพ้นทะเล ร้านกาแฟ ได้กลายเป็นที่รวมกลุ่ม ปรึกษา หารือ เกื้อกูลกัน จากเคยจิบชาก็เปลี่ยนมาเป็นกาแฟ มีขนมนมเนยเป็นเครื่องเคียง ความห่วงใยในสวัสดิภาพของผู้เป็นชนกลุ่มน้อยจึงมีสูง ทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันบ่อยๆ ตั้งแต่เช้า สาย บ่าย เย็น ดึกดื่น ก็ยังหาอุบายพบปะกันอยู่ จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมกาแฟในวันนี้ ซึ่งลูกหลานในปัจจุบันอาจจะไม่เคยรู้เลยว่า การมาพบหน้ากันวันละหลายๆรอบมีที่มาอย่างไร แต่ที่แน่ๆมันได้กลายเป็นลักษณะเฉพาะและเป็นวิถีชีวิตที่มีสีสัน ต่อผู้ที่สนใจต่อวัฒนธรรมศึกษาอย่างยิ่ง

กาแฟมื้อดึกมรดกวัฒนธรรมเมืองชายฝั่งทะเล
ค่ำนี้ผมออกมาร้านกาแฟกับเพื่อนเก่า เรื่องราวเก่าๆ เรียงรายมาให้ครุ่นคิด ผู้คนมากมายจนผมสงสัยว่า เดี๋ยวนี้คนตรังกินกาแฟดึกขนาดนี้แล้วหรือ ผมจึงได้คำอธิบายจากเพื่อนรักว่า วัฒนธรรมนี้น่าจะมาจากคน “กันตัง” ซึ่งกันตังอดีตอำเภอเมือง ในยุคการค้าขาย เรือเดินทะเลยังคึกคัก ชาวจีนจำนวนมาก ที่เข้ามาทำมาหากินกับท่าเรือแห่งนี้ ได้ก่อร่างวัฒนธรรมการกินมื้อดึก อันมีผลมาจากการเฝ้ารอเรือเข้าเทียบท่า ขนถ่ายสินค้าและค้าขาย จับจ่ายกันตลอดคืน ร้านกาแฟจึงเติบโตตามด้วยมุ่งบริการผู้มีภาระค้าขายในเมืองท่าแห่งนี้ เมืองกันตังในอดีตจึงคึกคักตลอดทั้งคืน

ผมเคยตั้งข้อสงสัยกับปรากฏการณ์ที่ร้านกาแฟในเมืองตรังในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ผุดพรายมากมายราวกับดอกเห็ด มีหนุ่มสาวมากมายมาชุมนุมกันที่ร้านกาแฟ อาหารยังคงมากมายดังเดิม ผิดไปแต่เพียง ในปัจจุบันได้เพิ่มความหลากหลายด้วย โทรทัศน์จอยักษ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลลีกส์ ต่างประเทศ ที่มีให้ชมอยู่ทุกค่ำคืน การถ่ายเททางวัฒนธรรมอันนี้ ทำให้ถึงกับร้องอ๋ออยู่เงียบๆ ใต้แสงไฟสลัวในร้านโกปี๊แต่เพียงผู้เดียว

เห็นอะไรในร้านกาแฟ
สิ่งที่นักวิชาการด้านการสื่อสาร น่าจะลองศึกษากันดูในร้านโกปี๊ที่เมืองตรัง คือ การบอกข่าวแบบคลาสสิคที่ทรงประสิทธิภาพมากก็คือ ใบปิดประกาศงานศพ ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในร้านกาแฟ ในทัศนะของผมมองว่ามัน คือบัตรเชิญที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้ ที่ได้บรรจุข้อความ ชื่อของผู้ตาย อายุเท่าไหร่ ตายด้วยสาเหตุใด ใครเป็นญาติก็บรรจุไว้หมด และจะไม่ส่งไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ข่าวนี้จะกระจายไปพร้อมกับผู้ที่มาร้านกาแฟ มันจึงเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่เชื่อมเข้ากับสื่อบุคคลได้ดีมาก

ความต่างนี้ได้ซ่อนเร้นคุณค่าทางวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเมืองตรังโดยแท้ จากข้อมูลที่พอมีอยู่ คะเนได้ว่า จุดเริ่มต้นของแผ่นพิมพ์ประกาศงานฌาปนกิจ น่าจะเริ่มจากชาวจีนยุคแรกในเมืองตรัง ที่ประกอบอาชีพค้าขายกับปลูกผัก ด้วยความเป็นเชื้อชาติพลัดบ้านเมืองจากโพ้นทะเล ทำให้คนจีนทั้งสองอาชีพ ต้องพบปะกันหรือส่งข้อความข่าวคราวถึงกัน ยิ่งมีการตายเกิดขึ้น ยิ่งต้องส่งข่าวหากันมากขึ้น คล้ายกับว่าเป็นเสมือนญาติพี่น้องกัน ด้วยอาชีพที่ดิ้นรน การไปบอกด้วยตัวเองเป็นเรื่องยาก การบอกกล่าวจึงใช้การเขียนเรื่องราวปิดไว้ที่ร้านกาแฟ

เมื่อผ่านยุคการเขียนมาสู่การพิมพ์ รูปแบบการนำเสนอก็เปลี่ยนตาม แต่สิ่งที่คงอยู่ก็คือ รายชื่อเจ้าภาพในแผ่นจะเต็มไปด้วยอย่างน้อยก็ครึ่งร้อยชื่อ การไล่อ่านรายชื่อเจ้าภาพ มีความสำคัญพอๆ กับชื่อผู้ตาย หากพบชื่อใครที่เคยรู้จักก็จะได้ไปร่วมงานไปเผา ไปฝังกันดื่มกาแฟที่เมืองตรังเที่ยวนี้ทำให้คิดอะไรหลายอย่าง แต่ที่แน่ๆ จงอย่าแปลกใจถ้ามีใครสงสัยว่าทำไม คนใต้รักพวกรักพ้อง แผ่นพิมพ์งานศพนี้ คงอธิบายนิยามคนใต้ได้พอประมาณ

**************


:ตีพิมพ์ครั้งแรก 5 ม.ค.2547 ในนิตยสารโฟกัสภาคใต้

ผู้ติดตาม