PSU: Cultural Studies Group

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

The gleaner and I: รู้จักใช้จะได้ไม่ผลาญโลก

The Gleaners โดย Jean Francois Millet

โฮมเธียร์เตอร์จอใหญ่กลางโถงห้องโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่หรือนาฬิกา ควอตส์ที่แขวนอยู่บนข้อมือ ลองถามตัวเองเล่นๆ ดูว่า หากวันนี้ของที่กล่าวนั้นใช้การไม่ได้ เราจะจัดการอย่างไรกับมัน

“ทิ้ง” คงเป็นคำตอบแรกๆ ที่เรานึกได้ ส่วนคำว่า “ซ่อม” คงเป็นคำที่เราหลงลืมไปแล้วใน ปัจจุบัน ไม่แปลกแต่อย่างใดกับภาวะขยะล้นเมือง การจัดการด้านสุขาภิบาล ถูกบรรจุหลักสูตรไว้ในสถาบันการศึกษาระดับสูงในวันนี้ เมื่อวิถีของโลกแบบบริโภคนิยม สร้างค่านิยมให้เราเลือกใช้แต่สิ่งที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด มีมาตรฐานที่เชื่อถือได้ สิ่งไหนไม่เข้าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ก็เท่ากับว่าไร้ค่า

จึงมีคำถามต่อว่า ของที่เราคิดว่า “เหลือใช้” นั้นควรคู่กับการสุมกองรวมกันที่ถังขยะเท่านั้นหรือสารคดีเชิงทดลองเรื่อง The gleaner and I คงเกิดจากคำถามคล้ายกันนี้ “แอ็กเนส วาร์ดา” ผู้กำกับหญิงชาวฝรั่งเศส วัย 72 ปี ได้คลี่พฤติกรรมดังกล่าวให้เราได้เห็น

The gleaner and I เป็นสารคดีในรูปแบบที่เรียบง่าย ตามแนวทางสารคดีแบบ Realism แต่แฝงไว้ด้วยความลึกซึ้ง เธอเริ่มตั้งคำถาม ต่อความหมายของคำว่า “glean”ด้วยการสืบค้นผ่าน Encyclopedia ซึ่งได้คำตอบว่าหมายถึง การเก็บของเหลือใช้ของชาวฝรั่งเศส ส่วน “gleaner” หมายถึง คนเก็บของเหลือใช้ ซึ่งจะกระทำภายหลังจากการเก็บเกี่ยวได้เสร็จสิ้นลง อีกนัยหนึ่งหมายถึง ความมัธยัสถ์ของชาวฝรั่งเศสอันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาชั่วนาตาปี

“แอ็กเนส วาร์ดา”
Agnès Varda นำเสนออย่างเข้าใจเพื่อค้นหาความหมายของคำว่า “gleaner” ว่าปัจจุบันกาลเวลา ได้นำพาให้ความหมายเปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร สอดแทรกแทรกด้วยอารมณ์ขันที่หยอกเอินกับความร่วงโรยของสังขารอย่างคมคาย

“แอ็กเนส วาร์ดา” กับมุมมอง “gleaner”
วาร์ดา ใช้มุมมองของตนเองในการตีความ ในระดับการรับรู้แบบจิตพิสัย (Subjectivity) ที่หลายๆ คนมองข้ามไปและเป็นเรื่องที่ไม่ใคร่น่าสนใจสักเท่าไหร่ แต่ วาร์ดา กลับใช้มุมมองในระดับที่ลึกขึ้น โดยพยายามจะสื่อให้ผู้ชมได้รับรู้ความงามในระดับ สัมพัทธ์พิสัย (Relativism) ที่มนุษย์กับวัตถุ ต่างมีความพร้อมในการรับรู้ความงามอย่างเสมอกันด้วยข้อมูลต่างๆ ที่มาสนับสนุนให้คล้อยตาม โดยไม่เทน้ำหนักไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป The gleaner and I จึงมีความหมายจากหลายมิติและหลายระดับ จากจุดยืนหลายๆ ปีก ไม่ว่าจะเป็นจาก Encyclopedia ที่เป็นเอกสารอ้างอิง, จากภาพวาด, นักกฎหมาย และ gleaner แบบต่างๆ

หากเราดูหนังทั้งเรื่องจบ แล้วจับมันมาแยกออกเป็นชิ้นๆ เพื่อให้เห็นโครงสร้างอย่างเลาๆ เราคงพอจะนึกตามเนื้อเรื่อง และเห็นความสัมพันธ์ 2 ระดับที่ วาร์ดา ได้วางเอาไว้ ภายใต้บริบทของสภาพสังคมแบบ หลังอุตสาหกรรม (Post - Industrial) อันมีภาค การผลิต และภาคการบริโภค เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ

ในระดับที่ 1 เป็นระดับของภาคการผลิต The gleaner and I พาเราให้สัมผัสกับพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ อันได้แก่ ไร่มันฝรั่งขนาดใหญ่ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบ Mass Production ทำให้ทุกอย่ามีมาตรฐานทางการผลิต โดยมีเครื่องจักรเป็นเครื่องมือหลักในการคัดแยก ขนาดของผลผลิตที่ป้อนสู่โรงงานเป็นสิ่งสำคัญ มันฝรั่งที่ไม่ได้ขนาด จะไม่ผ่านการควบคุมคุณภาพ ขนาดที่เล็กหรือใหญ่เกินขนาด จะถูกคัดแยก ทั้งๆ ที่คุณภาพหรือคุณค่าทางอาหารไม่ได้แตกต่าง ในระดับนี้ความหมายของ gleaner จึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมสักเท่าใดนัก gleaner ยังคงมีความคล้ายกับความหมายในอดีต ที่ยังสามารถเก็บเกี่ยวใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้นได้ ยังคงได้รับการยอมรับในสังคมนั้น

ระดับที่ 2 คือระดับของภาคการบริโภค อันเป็นปัจจัยสำคัญของชนชั้นกลาง ที่ไม่มีฐานการผลิตเป็นของตนเอง การดำรงชีพจึงขึ้นอยู่กับการซื้อ-ขาย เป็นหลัก ระบบการผลิตแบบ Mass Production ทำให้ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มีราคาถูกลง สิ่งของเหลือใช้หรือไร้ประโยชน์ (ในความหมายของสังคมบริโภค) จะถูกนำไปทิ้งเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ยังมีมูลค่าบางอย่างอยู่ แต่ผู้บริโภคไม่สามารถนำมาปรับปรุงหรือซ่อมแซมได้ด้วยตนเอง อีกทั้งค่านิยมในเรื่องการบริโภคของใหม่ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ จะมีคุณค่ามากกว่า ความหมายของ ของเหลือใช้จึงมีค่าเพียง “ส่วนเกินจากการผลิต” หรือ “ขยะ” เท่านั้น ความหมายของ gleaner ภายใต้บริบทนี้จึงเปลี่ยนไป ไม่ได้หมายถึงนิสัยมัธยัสถ์ของชาวฝรั่งเศสที่ยึดถือมานานอีกต่อไป การ glean จึงเกี่ยวโยงกับผู้ยากไร้และไม่มีอันจะกินในเมืองใหญ่ต้องเก็บหาอาหารมากินจากถังขยะ หรือเก็บอุปกรณ์บางอย่างที่ยังใช้งานได้ดีมาใช้

The gleaner and I ได้ฉายภาพให้เห็นว่า สังคมบริโภคในปัจจุบันล้วนผลาญทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย ตอนหนึ่ง วาร์ดา ฉายให้เห็นว่า ในถังขยะหลังซุปเปอร์มาร์เก็ต ยังมีเนื้อไก่ที่แพ็คอย่างดีและผลไม้ที่ยังไม่ช้ำ สามารถกินได้โดยไม่เกิดอันตราย ถูกทิ้งอย่างมากมาย

The gleaner and I กับการเล่าเรื่อง
วาร์ดา มีวิธีการเล่า ด้วยการเริ่มต้นเล่าเรื่อง ผ่านการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารก่อน โดยเริ่มลำดับ “นิยาม” ความหมายของสิ่งที่ตนอยากรู้และอยากศึกษา ลำดับมาตามแนวทางประวัติศาสตร์ (Chronological) แล้วจึงลงสัมผัสถึงระดับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ มีการนำวิธีการแบบ Snowballing Technique มาใช้การสืบค้นข้อมูลต่อไปเรื่อยๆ เพื่อดูถึงความเปลี่ยนไปในความหมายของ “gleaner” ว่าแปรเปลี่ยนไปตามแต่ละบริบทอย่างไร

การเล่าเรื่องของ วาร์ดา เป็นแบบผสมผสาน (Multinarrator) โดยเรื่องเล่าจะขึ้นเปิดมาด้วยแบบ Homodiegetic ที่ วาร์ดาเธอเป็นคนเล่าเรื่องเอง แล้วจึงใช้ การเล่าแบบ Heterodiegetic ที่ให้ Key Informant ต่างๆ คอยให้ข้อมูล เพื่อแสดง positioning ของตนเองว่าเป็น “นักเรียนน้อย”
ที่ต้องการจะเรียนรู้เรื่องนั้นอย่างแท้จริง อีกทั้งยังบอกกับผู้ชมอย่างเป็นนัยๆ ว่า ตนไม่ได้เป็นผู้ที่รู้ในเรื่องนี้ดีไปทั้งหมด

หากย้อนกลับไปดูในหนังในช่วงต้นๆ เมื่อ วาร์ดา รู้ความหมายของ “gleaner” เธอได้ทำการเปรียบเทียบตัวเองด้วยว่า เธอก็คือ “gleaner”เช่นกัน ด้วยการวางฟ่อนข้างบาร์เลย์ที่ทูนหัวลงแล้วหยิบกล้องแฮนดี้แคม ขึ้นมาแทนและหมายรวมไปถึงคนที่ทำงานสารคดีอื่นๆ ด้วย โดยการ “เก็บ” อาจไม่จำเป็นต้องเป็นแค่วัตถุเท่านั้น แต่อาจจะเป็นความรู้หรือประสบการณ์ก็ได้

ในระหว่างที่เรื่องกำลังดำเนินไป วาร์ดา จะพยายามการจัดหมวดหมู่ (Categories) ของสิ่งที่เธอเล่าให้เราอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ให้เรารู้ตัว ตั้งแต่ วัฒนธรรมการ “glean”ตั้งแต่อดีตถึง ปัจจุบัน ทั้งในสังคมชนบท, เกษตรกร, ยิปซีผู้เร่ร่อน, สังคมเมือง, ผู้อพยพ, ชนชั้นกลาง, คนทำงานศิลปะ พวกต่อต้านสังคม หรือผู้ซึ่งเลือกวิถีการดำเนินชีวิตของตัวเอง โดยเชื่อมต่อเนื้อเรื่อง เข้าด้วยกันด้วยการเดินทาง โดยใช้ท้องถนนแทนคำบรรยาย

การเล่าเรื่องของเธอ จะดูราวกับว่าได้เล่าเรื่องไปเรื่อยๆ เหมือนไม่ได้กำหนดโครงสร้างเอาไว้ แต่เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า เรื่องได้ถูกวางโครงสร้างมาเป็นอย่างดี ด้วยการลำดับความหมายของ “gleaner” ตั้งแต่อดีตจนปัจุบัน ความหมายได้เปลี่ยนไปอย่างไร และมีปัจจัยอะไรบ้างที่สนับสนุนให้ความหมายนั้นเปลี่ยน

โดยทัศนะส่วนตัว ผู้เขียนคิดว่าการตั้งชื่อเรื่อง The gleaner and I เป็นการแสดง ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่ง วาร์ดา เธอออกไปพบ และนำกลับมาเปรียบเทียบกับตัวของเธอเอง ซึ่งอาจจะสรุปได้ว่า “gleaner” กับตัวเธอเองนั้น ไม่ได้มีความแตกต่างกันแต่อย่างใดเลย ชื่อเรื่องจึงเป็นเป็นการบ่งบอกถึง “อัตลักษณ์” ของตัวเธออีกนัยหนึ่งด้วย

หากเราถามต่อว่า วาร์ดา ได้เก็บเกี่ยวอะไรให้กับเราบ้าง หลายๆ ครั้งในเรื่องราวที่เธอนำเสนอ เธอได้นำมุมมองที่หลายๆ คนมองข้ามทั้งๆ มีอยู่ดาษดื่นในสังคม จนถูกมองข้ามและหลงลืมแทบจะตกขอบความสนใจของสังคมนี้ไปด้วยซ้ำ ด้วยเหตุผลนี้ทำให้นักเรียนการสื่อสารอย่างเราได้ตระหนักต่อการเลือกมุมมองในนำเสนอและผลิตรายการสารคดีว่า ความสำคัญของสรรพสิ่งรอบตัวที่ธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวัน (Daily life) ว่าเป็นเรื่องที่มิอาจจะมองข้าม The gleaner and I จึงมีคุณูปการในการเปิดมุมมองของการผลิตรายการสารคดี ให้กลับมามีชีวิตชีวาและสร้างสรรค์

วาร์ดา ยังเป็นนักเล่าเรื่องที่มีอารมณ์ขันอย่างมาก บ่อยครั้งในสารคดีของเธอ เราจะเห็นการหยอกล้อกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการพยายามหวีผมปกปิดสีขาวที่รุกล้ำศีรษะมาตามอายุขัย ภาพของมือที่เหี่ยวย่นด้วยภาพแบบ Close up และภาพของนาฬิกาที่ไม่มีเข็มบอกเวลา ที่มีใบหน้าเธอค่อยๆ วิ่งผ่านด้านหลัง ราวกับจะบอกว่าหากเวลาหยุดหมุนได้ก็คงดี ไม่รวมเพลงประกอบสารคดีที่เป็นเพลงแร็พ แทนที่จะเป็นเพลงคลาสสิค ตามขนบของสารคดี ซึ่งก็พอที่จะเดาได้ว่าเธอเป็นคนร่วมสมัยที่สนใจความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยอยู่ตลอดเวลา อันเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของการทำงานสารคดีและงานสื่อสารมวลชนอีกด้วย

นอกจากนี้เธอ ยังได้หลุดกรอบแนวคิดการทำสารคดีในระดับหนึ่ง เห็นได้จากตอนหนึ่งของเรื่องที่ปล่อยให้ฝาครอบกล้องขนาดพกพาของเธอ แกว่งเข้ามาในกรอบภาพ นัยว่า เป็นความสมจริงสมจัง แต่อีกนัยหนึ่งก็เป็นการกระทบกระเทียบการผลิตสารคดีว่า แม้การทำงานจะมุ่งนำเสนอความจริงแต่การตบแต่งให้ภาพดูดีตลอดเวลาก็ยังเป็นที่ต้องการ

สิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกอีกประการก็คือ วาร์ดา กำลังจะบอกอยู่ตลอดเวลา ภายใต้การหยอกล้อกับอายุของตัวเธอเองนั้นก็คือ ภาพของมือเหี่ยวย่น ที่สร้างกรอบกลมๆ ด้วยนิ้วชี้และหัวแม่มือ เหมือนกับจะบอกกับเราว่า อย่าหยุดที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากโลก อย่าหยุดความเข้าใจต่อโลกใบนี้ แม้ว่าเวลาจะพาอายุเราให้ล่วงเลยไปแค่ไหนก็ตาม เพราะการ glean คือพรแห่งธรรมชาติที่มอบให้แด่มนุษย์เพื่อความเข้าใจในสรรพสิ่ง


วัฒนธรรม ‘กาแฟ’ เมืองตรัง

คนตรังเป็นคนช่างกิน คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลยไป ชาวตรังสนใจการกิน การอยู่ ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ดี เงินทองคล่องมือ จึงจับจ่ายใช้เก่ง ผู้ที่มาเยือนจึงได้ยินชื่อเสียงด้านการกินอยู่ ไม่มีถนนสายไหน ที่ไม่มีร้านกาแฟและร้านอาหาร ถนนทุกสายจึงเน้นเรื่องกินเข้าว่า พูดไปจะหาว่าโม้ คนตรังกิน 5-6 มื้อในแต่ละวัน เริ่มตั้งแต่เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำและดึก คนตรังจึงกินจริง - กินจัง

ร้าน “โกปี๊” ชื่อสำเนียงจีนปนปักษ์ใต้โดยนัยคือร้านกาแฟ แต่ที่มากกว่านั้น คือเป็นร้านแบบพันธุ์ทาง ที่จะขายกาแฟเป็นหลักและมีอาหารหนักทั้งบะหมี่ โจ๊ก ก๋วยเตี๋ยว ข้าวและติ่มซำ ประกอบอยู่ในร้านเดียวกัน ความพิเศษของร้านกาแฟในเมืองตรังก็คือ มีขนมและเครื่องเคียงมากมาย ถ้าคุณสั่งกาแฟแก้วเดียว อาหารอื่นๆ จะระดมมาเต็มโต๊ะ ตั้งแต่ขนมจีบ ซาลาเปา ขนมประเภทนึ่งทอดปิ้ง ปาท่องโก๋ และที่ขาดไม่ได้คือ หมูย่างรถเด็ด หลายๆ คนงงกับสูตรการกินแบบนี้ กาแฟกับหมูย่างเข้ากันได้อย่างไร ผมก็ตอบไม่ถูก ได้แต่บอกว่าให้ลองดูแล้วจึงจะติดใจ หลายๆ คนก็แปลกใจอีกนั่นแหละที่บอกว่าไม่ได้สั่ง แต่ทำไมของยังมากันเพียบ คุณกินเท่าไหร่ เขาก็คิดราคาเท่านั้นครับ

พูดถึงหมูย่างตรังในอดีตใช่จะหากันกินได้ง่ายๆ อย่างทุกวันนี้ ด้วยเพราะแตกต่างจากหมูหันหรือหมูอบอย่างสิ้นเชิง หมูย่างตรังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หนังกรอบ รสชาติดีเยี่ยม มีกลิ่นเครื่องเทศและสมุนไพรเจืออยู่บางเบา กรรมวิธียุ่งยากและซับซ้อน ใช้หมูขนาดเล็กคือ 30-40 กก. ย่าง อบ ด้วยความร้อนสูงทั้งตัว จนน้ำหนักหายไปกว่าครึ่ง หมูย่างไม่ใช่จะอยู่แต่ตามร้านกาแฟอย่างเดียว แต่กลับไปขึ้นโต๊ะตามงานต่างๆ ทั้งงานแต่ง งานตรุษ งานเลี้ยงแขกพิเศษ ไปจนถึงงานอวมงคลเช่นงานศพ ใครต่างก็ต้องการที่จะมาชิม จนจังหวัดต้องจัดเทศกาลให้ทุกปลายเดือนกันยายน

ถ้าวัฒนธรรม หมายถึง ระบบความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ที่เกิดจากอาหารการกิน ก็คงจะเอามาอธิบายวัฒนธรรมทางการกินของคนตรังได้ เพราะชาวตรังมีชาวจีนเข้ามาลงหลักปักฐานในเมืองไทยมากมาย การกินหลายมื้อของคนจีน เป็นผลมาจากการเพาะบ่มทางวัฒนธรรมของคนจีนในเมืองตรังยุคบุกเบิก

ด้วยความที่เป็นกลุ่มคนจีนที่มาจากดินแดนโพ้นทะเล ร้านกาแฟ ได้กลายเป็นที่รวมกลุ่ม ปรึกษา หารือ เกื้อกูลกัน จากเคยจิบชาก็เปลี่ยนมาเป็นกาแฟ มีขนมนมเนยเป็นเครื่องเคียง ความห่วงใยในสวัสดิภาพของผู้เป็นชนกลุ่มน้อยจึงมีสูง ทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันบ่อยๆ ตั้งแต่เช้า สาย บ่าย เย็น ดึกดื่น ก็ยังหาอุบายพบปะกันอยู่ จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมกาแฟในวันนี้ ซึ่งลูกหลานในปัจจุบันอาจจะไม่เคยรู้เลยว่า การมาพบหน้ากันวันละหลายๆรอบมีที่มาอย่างไร แต่ที่แน่ๆมันได้กลายเป็นลักษณะเฉพาะและเป็นวิถีชีวิตที่มีสีสัน ต่อผู้ที่สนใจต่อวัฒนธรรมศึกษาอย่างยิ่ง

กาแฟมื้อดึกมรดกวัฒนธรรมเมืองชายฝั่งทะเล
ค่ำนี้ผมออกมาร้านกาแฟกับเพื่อนเก่า เรื่องราวเก่าๆ เรียงรายมาให้ครุ่นคิด ผู้คนมากมายจนผมสงสัยว่า เดี๋ยวนี้คนตรังกินกาแฟดึกขนาดนี้แล้วหรือ ผมจึงได้คำอธิบายจากเพื่อนรักว่า วัฒนธรรมนี้น่าจะมาจากคน “กันตัง” ซึ่งกันตังอดีตอำเภอเมือง ในยุคการค้าขาย เรือเดินทะเลยังคึกคัก ชาวจีนจำนวนมาก ที่เข้ามาทำมาหากินกับท่าเรือแห่งนี้ ได้ก่อร่างวัฒนธรรมการกินมื้อดึก อันมีผลมาจากการเฝ้ารอเรือเข้าเทียบท่า ขนถ่ายสินค้าและค้าขาย จับจ่ายกันตลอดคืน ร้านกาแฟจึงเติบโตตามด้วยมุ่งบริการผู้มีภาระค้าขายในเมืองท่าแห่งนี้ เมืองกันตังในอดีตจึงคึกคักตลอดทั้งคืน

ผมเคยตั้งข้อสงสัยกับปรากฏการณ์ที่ร้านกาแฟในเมืองตรังในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ผุดพรายมากมายราวกับดอกเห็ด มีหนุ่มสาวมากมายมาชุมนุมกันที่ร้านกาแฟ อาหารยังคงมากมายดังเดิม ผิดไปแต่เพียง ในปัจจุบันได้เพิ่มความหลากหลายด้วย โทรทัศน์จอยักษ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลลีกส์ ต่างประเทศ ที่มีให้ชมอยู่ทุกค่ำคืน การถ่ายเททางวัฒนธรรมอันนี้ ทำให้ถึงกับร้องอ๋ออยู่เงียบๆ ใต้แสงไฟสลัวในร้านโกปี๊แต่เพียงผู้เดียว

เห็นอะไรในร้านกาแฟ
สิ่งที่นักวิชาการด้านการสื่อสาร น่าจะลองศึกษากันดูในร้านโกปี๊ที่เมืองตรัง คือ การบอกข่าวแบบคลาสสิคที่ทรงประสิทธิภาพมากก็คือ ใบปิดประกาศงานศพ ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในร้านกาแฟ ในทัศนะของผมมองว่ามัน คือบัตรเชิญที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้ ที่ได้บรรจุข้อความ ชื่อของผู้ตาย อายุเท่าไหร่ ตายด้วยสาเหตุใด ใครเป็นญาติก็บรรจุไว้หมด และจะไม่ส่งไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ข่าวนี้จะกระจายไปพร้อมกับผู้ที่มาร้านกาแฟ มันจึงเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่เชื่อมเข้ากับสื่อบุคคลได้ดีมาก

ความต่างนี้ได้ซ่อนเร้นคุณค่าทางวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเมืองตรังโดยแท้ จากข้อมูลที่พอมีอยู่ คะเนได้ว่า จุดเริ่มต้นของแผ่นพิมพ์ประกาศงานฌาปนกิจ น่าจะเริ่มจากชาวจีนยุคแรกในเมืองตรัง ที่ประกอบอาชีพค้าขายกับปลูกผัก ด้วยความเป็นเชื้อชาติพลัดบ้านเมืองจากโพ้นทะเล ทำให้คนจีนทั้งสองอาชีพ ต้องพบปะกันหรือส่งข้อความข่าวคราวถึงกัน ยิ่งมีการตายเกิดขึ้น ยิ่งต้องส่งข่าวหากันมากขึ้น คล้ายกับว่าเป็นเสมือนญาติพี่น้องกัน ด้วยอาชีพที่ดิ้นรน การไปบอกด้วยตัวเองเป็นเรื่องยาก การบอกกล่าวจึงใช้การเขียนเรื่องราวปิดไว้ที่ร้านกาแฟ

เมื่อผ่านยุคการเขียนมาสู่การพิมพ์ รูปแบบการนำเสนอก็เปลี่ยนตาม แต่สิ่งที่คงอยู่ก็คือ รายชื่อเจ้าภาพในแผ่นจะเต็มไปด้วยอย่างน้อยก็ครึ่งร้อยชื่อ การไล่อ่านรายชื่อเจ้าภาพ มีความสำคัญพอๆ กับชื่อผู้ตาย หากพบชื่อใครที่เคยรู้จักก็จะได้ไปร่วมงานไปเผา ไปฝังกันดื่มกาแฟที่เมืองตรังเที่ยวนี้ทำให้คิดอะไรหลายอย่าง แต่ที่แน่ๆ จงอย่าแปลกใจถ้ามีใครสงสัยว่าทำไม คนใต้รักพวกรักพ้อง แผ่นพิมพ์งานศพนี้ คงอธิบายนิยามคนใต้ได้พอประมาณ

**************


:ตีพิมพ์ครั้งแรก 5 ม.ค.2547 ในนิตยสารโฟกัสภาคใต้

วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2550

เรื่องเล่าและบทเพลงของพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ

พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ เป็นทั้งกวี นักดนตรีและนักแต่งเพลง ที่มีชื่อเสียง ในช่วงทศวรรษ 2520 – 40 ฝีไม้ลายมือและชั้นเชิงทางดนตรีของเป็นที่ยอมรับกันว่า มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝีไม้ลายลายมือในการประดิษฐ์คำ จากประสบการณ์ของชีวิตในช่วงของการปฏิวัติประชาชน ที่ทำให้เขามีโอกาสคลุกคลีกับชาวบ้านในเขตป่าเขา อีกทั้งประสบการณ์ทางดนตรีเมื่อครั้งที่ยังร่วมงานอยู่กับ คาราวาน, คาราบาว และ ซูซู ได้ต่อยอดให้เขานำเอาดนตรีพื้นบ้านมาปรับใช้ในงานเพลง จนได้รับคำยกย่องว่าเป็น “กวีศรีชาวไร่” จาก “นายผี” กวี นักคิด นักเขียนคนสำคัญ

แม้ว่า พงษ์เทพ จะผลิตงานในช่วงที่คาบเกี่ยวกับศิลปินเพื่อชีวิตอื่นๆ คือ คาราวานและคาราบาว ที่เป็นหลักในวงการ แต่ความแตกต่างของพงษ์เทพที่เห็นได้ชัดก็คือ ความเป็นนักเล่าเรื่อง (Narrator) ความแจ่มชัดนี้ฉายให้เห็นในภาคการแสดงดนตรีสดทุกครั้งของเขา รวมถึงในเนื้อหาของบทเพลงที่มีความประณีต คุณลักษณะของการเล่าเรื่องนี้จึงถูกจัดประเภทว่าเป็นเพลงที่เรียกว่า “บัลลาด” (Ballad) แบบตะวันตก

ผู้เขียนได้หยิบยกบทเพลงที่นำมาศึกษาในครั้งนี้ จากการคัดอัลบั้มเพลงชุด ‘เหงา เศร้า ฝัน’ (2536) 4 บทเพลง คือ บทเพลงชื่อ ‘เด็กหญิงปรางค์’, ‘แม่’, ‘ลิงทะโมน’ จัดอยู่ในกลุ่มตามชื่ออัลบั้ม และเพลง ‘เฉย’ คงมีทั้งส่วนที่เหงาและเศร้าปะปนกัน แม้เพลงที่เลือกจะไม่ใช่เพลงที่ผู้เขียนชอบมากที่สุด แต่เพลงที่มีคุณลักษณะเด่นของการเล่าเรื่อง อันเป็นทางหรือลักษณะเฉพาะของ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ในการประพันธ์เพลง

อนึ่งการจัดประเภทของงานเพลงของ พงษ์เทพ ตามแนวทางของศิลปะอาจจะเทียบได้กับ แนวทางศิลปะเป็นแบบ อิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) เอาความประทับใจ และเศร้าสะเทือนใจ มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน ความน่าสนใจประการหนึ่ง ที่ผู้เขียนสนใจการเล่าเรื่องในบทเพลงก็คือ ข้อจำกัดของความยาวเพลง ในยุคอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ความยาวจะไม่มาก เฉลี่ยตกอยู่ประมาณ 3.00 นาที ไม่เหมือนเพลงไทยเดิมประเภท เพลงเถาหรือเพลงตับ ทำให้การเล่าเรื่องต้องมีความกระชับมากที่สุด รวมถึงความแตกต่างไปจากการเล่าเรื่องในสื่อสารมวลชนอื่นๆ เช่น ภาพยนตร์หรือละครอีกด้วย

ในการวิเคราะห์จะแสดงผ่านเนื้อร้องตามลำดับเพลงที่เลือกเอาไว้คือ ‘เด็กหญิงปรางค์’, ‘แม่’, ‘ลิงทะโมน’ และ ‘เฉย’ ร่วมกับการใช้กรอบแนวคิดขนบ (Convention) เรื่องเล่าของ จอห์น คาเวลติ John Cawelti 1971 ในตอนท้าย ประกอบการวิเคราะห์ดังต่อไปนี้




เด็กหญิงปรางค์

*เนื้อเพลง* ขยะในถังที่ตั้งริมทาง เด็กหญิงปรางค์ กำลังคุ้ยเขี่ย เป็นประจำหน้าบ้านผัวเมีย ที่นั่งดูเหมือนพลเมืองดี ยังไม่รู้จะได้อะไร เปลือกลำไยหรือซองบุหรี่ อยากจะได้หุ่นยนต์ดีๆ หนูอยากจะมีน้องตุ๊กตา ถ้าได้ฝันจะรีบเอาไป อวดวินัย ลูกชายของป้า ถ้าแขนไม่ครบ ไม่มีลูกตา จะให้ลุงมาช่วยเสริมเติมแต่ง
*ขยะในถังตั้งอยู่ในใจ ที่ใสสะอาดวาดต่อเติม เพิ่มความฝันทุกวันเวลา ตุ๊กตานำทางไปทั่ว ตามซอกซอยของเมืองมัวๆ มือน้อยๆ ค่อยๆ คุ้ยเขี่ย (ซ้ำ*)




ในเพลงนี้จะพบชุดคำ 3 ชุด ดังนี้
-เมือง ( ถังขยะ ริมทาง หน้าบ้าน พลเมือง ซอกซอย เมือง)
-ขยะ (ขยะ คุ้ยเขี่ย เปลือกลำไย ซองบุหรี่ หุ้นยนต์ ตุ๊กตา)
-ตัวละคร (เด็กหญิงปรางค์ ผัว-เมีย ‘น้องตุ๊กตา’ วินัย ป้า ลุง)
คำในวงเล็บประกอบขึ้นเป็นชุดคำที่แสดงหนึ่งความคิดหลัก หลายๆ ความคิดหลัก ประกอบขึ้นเป็นเนื้อหาบทเพลง แต่ละความคิดหลักจะมีความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

เมืองนี้เป็นเมืองมัวๆ มีถังขยะเป็นลักษณะของเมือง มี ‘พลเมืองดี’ นั่งดูเด็กคุ้ยเขี่ยถังขยะ (ในเพลงใช้คำว่าดูเหมือน การอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น ไม่สามารถแน่ใจว่า เป็นพลเมืองดีหรือไม่ เป็นได้แค่ดูคล้าย) การมีเด็กคุ้ยเขี่ยถังขยะนั้นไม่ควรจะเป็นความปกติของเมือง กริยา ‘คุ้ยเขี่ย’ นอกจากจะใช้กับคนที่จำเป็นจะต้องไปเก็บของจากกองขยะเพื่อนนำไปขายต่อ เพื่อเป็นรายได้ยังชีพแล้ว คำนี้ยังเป็นกริยาของสัตว์ประเภทไก่ (สำนวนไก่เขี่ย) เมื่อคำนี้กับเด็กหญิงปรางค์จึงบอกชัดเจนถึงความยากจนและสภาพที่ไม่ต่างจากสัตว์


อย่างไรก็ตามความเป็นคนมีอยู่ในตัวเด็กผู้หญิง นั่นคือการมีความฝันและมีใจที่ ‘ใสสะอาด’ ตุ๊กตาจึงเป็น ‘น้องตุ๊กตา’ เป็นผู้นำทาง ส่วน ‘ขยะในถังที่ตั้งริมทาง’ ระบุโลกแห่งความจริง (Reality) ‘ขยะในถังตั้งอยู่ในใจ’ บอกโลกแห่งความฝัน (Fantasy)

ในชุดคำตัวละคร ผู้ที่มีความสัมพันธ์ ฉันญาติกับเด็กหญิงปรางค์คือลุง ซึ่งไม่ชัดเจนว่าชื่อ ‘มา’ หรือไม่และ ’วินัย’ ลูกชายของทั้งสอง ในเนื้อเพลงไม่ได้กล่าวถึงพ่อและแม่ของเด็กหญิงปรางค์ แต่กล่าวว่าถ้าเด็กหญิงคนนี้ได้ตุ๊กตาขาดแขน ขาดลูกตา ลุงจะทำหน้าที่ซ่อมแซม (ช่วยเสริมเติมแต่ง) ตีความได้ว่า เด็กหญิงปรางค์อยู่ในความดูแลของลุงและป้า ซึ่งคงมีความเมตตาพอสมควร แต่ผู้ที่เติมแต่งความฝันของเด็กน้อยได้นั้นไม่ใช่ลุงและป้า หากแต่เป็นตุ๊กตา ชีวิตของเด็กหญิงปรางค์คงดำเนินไปอย่างมีความสุข (ในความรู้สึกของเด็กหญิง)

ตัวละครผัว-เมีย เจ้าของบ้านซึ่งมีถังขยะตั้งอยู่หน้าบ้านนั้น ‘นั่งดูเหมือนพลเมืองดี’ การไม่มาขับไล่ก็แสดงถึงความเป็นพลเมืองดีเพียงพอแล้วสำหรับ ‘เมืองมัวๆ’ เมืองนี้ ชุดคำทั้งสามชุดนี้ได้ร่วมกันสร้างโลกของชนชั้นล่าง ที่ยากไร้ได้อย่างชัดเจน ในภาคดนตรีเพลงที่เป็นส่วนของทำนอง ใช้การเกากีตาร์อย่างเอื่อยๆ ในแบบกีตาร์โฟล์ค เพื่อให้สอดรับกับการเล่าเรื่องในเพลง

วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2550

อำนาจแห่งเสื้อคลุม

ที่หัวเมืองใหญ่ไม่ว่าเชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี หาดใหญ่ ฯลฯ เราจะเห็นภาพหนุ่ม-สาวกลุ่มใหญ่ ที่ใช้มอเตอร์ไซค์เดินทางต่างเท้า สิ่งที่เจนตาแน่ชัดว่าที่ทางดังกล่าวคือศูนย์การศึกษาของภูมิภาค สะท้อนผ่านรูปลักษณ์ กิริยาท่าทางของ พวกเขา-เธอ เหล่านั้นแตกต่างจากนักเรียนนักศึกษาทั่วไป แต่ยืนยันความเป็นชาวมหาวิทยาลัย ยืนยันด้วยอาภรณ์คลุมกายสีเข้ม ปักลวดลายแตกต่างกันไป

ใช่! เขา- เธอ สวมเสื้อแจ็คเก็ต ต่างเครื่องแบบ นอกเหนือจาก เข็มกลัด กระดุมปุ่มเน็คไท ราวกับว่าเป็นเครื่องแบบปกติของสถาบันการศึกษาไปแล้ว

เสื้อแจ็คเก็ต เริ่มนิยมในหมู่นักศึกษาไทยตั้งแต่เมื่อใด เหตุใดจึงเป็นที่นิยมเป็นคำถามหลักๆที่ผมสนใจใคร่รู้ โดยส่วนตัว ผมไม่มั่นใจนักว่าประเพณีการสวมเสื้อแจ็คเก็ตของชาวมหาวิทยาลัยเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อใด หากจะคาดคะเน(ซึ่งอาจจะไม่จริง) จากการคลุกคลีทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ก็พอประมาณได้ว่าน่าเริ่มใช้มาไม่ต่ำกว่า 10- 15 ปี หรือมากกว่านั้นเพราะช่วงที่ผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เสื้อแจ็คเก็ตเริ่มเป็นที่แพร่หลายแล้ว

พอจะจำได้เลาๆ ว่าในยุคนั้น มหาวิทยาลัยในส่วนของภูมิภาคอื่นๆยังไม่มีการสวมใส่แจ็คเก็ตกันอย่างกว้างขวางนัก อย่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แม้จะตั้งอยู่ในภูมิอากาศที่หนาวเย็นแต่ผมก็ไม่เห็นใครจะนิยมในการใส่เสื้อแจ็คเก็ตสังกัดคณะแต่อย่างใดยังคงใส่เสื้อกันหนาวหรือสเว็ตเตอร์แบบที่เป็นสีสันเสียมากกว่าแต่กลับแพร่หลายอย่างยิ่ง ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ทั้งสองวิทยาเขต ซึ่งน่าจะเป็นผู้นำแฟชั่นนี้มาให้เกิดความแพร่หลายในหมู่ชาวมหาวิทยาลัยซึ่งมีกันทุกคณะเสียด้วย

ผมจึงมีข้อสังเกตต่อกรณีศึกษานี้อยู่ประมาณ 2-3 ประการประการแรก เสื้อแจ็คเก็ตทำหน้าที่ในเชิงคุณค่าของตัวมันเองคือให้ความอบอุ่นกับผู้ที่สวมใส่ รวมไปถึงกันแดดกันลมยามที่เดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซค์ในเวลากลางวัน ยามที่แดดร้อนประการต่อมา เสื้อแจ็คเก็ตได้ทำหน้าที่นอกเหนือ “อัตถประโยชน์” ที่มันเป็นแต่ทำหน้าที่ในเชิง” “สัญลักษณ์” มากกว่า ผมสังเกตเห็นว่าในสังคมมหาวิทยาลัย ที่จัดการศึกษาแบบ “สหวิทยาการ”
อย่าง มอ. นั้น นักศึกษาแต่ละคณะล้วนแสดง “อัตลักษณ์” ของตนออกมา ผ่านทาง 'ภาพลักษณ์' (Image) สู่สังคมภายนอกให้เป็นที่ยอมรับผมคาดคะเนเอาว่า กลุ่มแรกๆ ที่สร้างความแตกต่างให้เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ กลุ่มของคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์ ที่มีเครื่องแต่งกายชัดเจนนักศึกษาแพทย์สวมเสื้อกาวด์เมื่อลงแล็ป ซึ่งก็ดูดีสมกับบุคลิกและน้อยครั้งที่จะใส่ออกมาเดินเฉิดฉายในที่สาธารณะผิดกับนักศึกษาวิศวะ ซึ่งมักจะสวมเสื้อเชิ้ตสีกรมท่าสำหรับฝึกปฏิบัติ จนกลายเป็นเครื่องแบบปกติ การรวมตัวที่เป็นกลุ่มก้อนมากกว่านักศึกษาคณะอื่นๆ กอรปกับการเป็นนักศึกษาระดับหัวกะทิของมหาวิทยาลัยจึงได้รับการยอมรับจากสังคมภายนอกค่อนข้างมาก

รูปเฟืองเกียร์สัญลักษณ์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ต้องยอมรับกันว่า แม้จะกินไม่ได้แต่ใครมีแปะไว้ที่หน้าอกหรือกลางหลัง มันก็เท่ห์!! เท่ห์ทั้งตัว ทั้งหัวสมองว่างั้น!!

หลายๆ คณะก็อยากจะเลียนแบบและมีสัญลักษณ์อย่างนั้นบ้างซึ่งก็ทำให้เกิดมูลเหตุในประการต่อมาและตอกย้ำว่ามันได้ฉายภาพของการทำหน้าที่เชิงสัญลักษณ์ของ “อำนาจ” ให้ชัดเจนขึ้น

เราต้องไม่ลืมว่า ก่อนการพังทลายของเศรษฐกิจฟองสบู่ ในปี 2540 คณะยอดนิยมของมหาวิทยาลัยในภาคใต้นั้น ต้องยกให้กับคณะวิศวกรรมศาสตร์แพทยศาสตร์และวิทยาการจัดการซึ่งทำหน้าที่ผลิตบุคลากรเพื่อออกมารองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะหัวกะทิอย่างพวกเขาจึงถูกกรองแล้วกรองอีก เพื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย
ซึ่งการที่พวกเขาเหล่านั้นได้ศึกษาในคณะดังกล่าวย่อมหมายถึงการประกันความมั่งมีศรีสุขของชีวิตพวกเขาในอนาคตด้วยสปอตไลท์ทุกดวง จึงฉายฉานมายังพวกเขาให้โดดเด่นและถูกยอมรับอย่างสูงในสังคมปฏิเสธได้ยากยิ่งว่าพวกเขาคือ อภิสิทธิ์ชนน้อยๆ ในสังคมนี้ และไม่มีอะไรจะชี้บ่งอภิสิทธิ์ นั้นได้ดีเท่ากับอาภรณ์ที่พวกเขาสวมใส่ที่สื่อให้ผู้พบเห็นผ่านสัญลักษณ์ ฟันเฟืองขบกัน เรือสำเภาลำโตโต้คลื่นหรือสิงห์ผยองรองรับด้วยชื่อมหาวิทยาลัยเป็นภาษาฝรั่ง บนแผ่นหลังของพวกเขาเมื่อเสิ้อแจ็คเก็ต ได้ทำหน้าที่เกินอัตถประโยชน์และกลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและอภิสิทธิ์ชนไปแล้ว

ไม่แปลกแต่อย่างใดที่แฟชั่นนี้จะกระจายไปสู่นักเรียน นักศึกษากลุ่มอื่นๆด้วยการที่นักศึกษาอาชีวะบางกลุ่มจะขอเอาอย่างบ้างอาจเพราะพวกเขาเหล่านั้นถูกสังคมกดทับและดูแคลนอยู่ลึกๆ ตลอดเวลาทำไมพวกเขาจะแสดงตัวตนผ่านสัญลักษณ์อื่นๆบ้างไม่ได้ (ซึ่งเราอาจจะชินแต่ภาพของนักเรียนตีกัน) เพื่อลบภาพเดิมๆ ที่เราชินตา

ภาพของการต่อรองของ “ชนชั้น” ผ่านเสื้อแจ็กเก็ตทำให้เราเห็นว่าในสังคมไทยช่างมีช่องว่างระหว่างชนชั้นที่ถูกแบ่งแยกอยู่มากมายเหลือเกิน (ซึ่งนี่เป็นแค่ตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้น) โดยแทบที่เราไม่ได้รู้สึก “เสื้อแจ็กเก็ต” จึงมิได้เป็นแค่เสื้อ แต่กลับผูกโยงกับอำนาจอย่างลึกซึ้งซึ่งผู้สวมใส่ก็รับรู้ได้ดีถึงอำนาจนั้นและได้ใช้มันมากกว่าเพื่อบังแดด บังลมหรือทำให้ร่างกายอบอุ่น

ภาพของนักศึกษาหนุ่มเดินประกบนักศึกษาสาวคณะวิทยาการจัดการหรือคณะพยาบาลในเสื้อแจ็คเก็ตตัวโคร่งปักรูปเกียร์เต็มแผ่นหลัง ที่กรีดกรายอยู่ในมหาวิทยาลัยนั้นคงยืนยันอำนาจของมันได้ระดับหนึ่ง

**************
:ตีพิมพ์ครั้งแรก 20 มีนาคม 2547 ในนิตยสารโฟกัสภาคใต้

วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2550

การเปลี่ยน 'เป้า' ไม่ใช่เรื่อง 'สะเปะสะปะ'

ภายหลังจากการกดดันทางยุทธวิธีของฝ่ายกำลังผสม พลเรือน ตำรวจ และทหาร (พตท.) อย่างหนักหน่วงในเขตพื้นที่สีแดงในรอบ 2-3 เดือนที่ผ่านมา จากรายงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ระบุว่าสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้เกือบ 1,800 คน ผลในครั้งนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงแสดงความเชื่อมั่นว่าจะสามารถที่จะจำกัดความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจนเป็นผลให้สถานการณ์ในเขตพื้นที่งานบางส่วนสงบเบาบางลง

"การใช้กำลังทหารกดดันในพื้นที่ถือว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกทางแล้ว สถานการณ์ในพื้นที่จะสงบเพราะฝ่ายที่เคลื่อนไหวถูกกวาดจับไปหมด ส่วนแกนที่เหลือทำงานได้ไม่สะดวก"

เป็นการวิเคราะห์ของแหล่งข่าวใกล้ชิดของ "กลุ่มใต้ดิน" รายหนึ่งที่เปิดเผยว่า การเปิดยุทธการของเจ้าหน้าที่ทำให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มใต้ดินเป็นไปอย่างยากลำบาก ทั้งในส่วนของปีกการเมืองซึ่งคอยกำกับทิศทางภายในหมู่บ้าน และปีกทางการทหารที่ทำหน้าที่ก่อเหตุไม่สงบอย่างได้ผลในเขตพื้นที่สีแดงจัด อย่าง อ.บันนังสตา จ.ยะลา และ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ประเมินได้จากสถานการณ์ในหมู่บ้านสงบลง

แต่ใช่ว่าความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะทุเลาลงไปในทันใด เพราะเมื่อย้อนวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม 2550 พบว่า แม้การก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่เชิงปริมาณดูเสมือนว่าลดน้อยลง แต่หากพิจารณาในเชิงคุณภาพกลับมีนัยที่น่าจะพิจารณา

8 สิงหาคม 2550 นางอัจฉรา สกนธวุฒิ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารสาธารณสุข ระดับ 7 หัวหน้าสถานีอนามัยบ้านบราโอ ต.ประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี และ นายเบญจพัฒน์ แซ่ติ่น ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ระดับ 5 ที่ถูกคนร้ายบุกยิงเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่อยู่บนสถานีอนามัย

1 กันยายน 2550 นายปิยะพงศ์ เพชรเงิน อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ถูกคนร้ายประกบยิงระหว่างเดินทางจากตัวเมืองปัตตานีไปพร้อมเพื่อน 4 คน ขี่รถจักรยานยนต์ 2 คัน เดินทางเพื่อทำธุระในตัวเมืองยะลา บนถนนสาย 410 บ้านต้นมะขาม ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี

3 กันยายน 2550 นายฉลอง อาภากร อายุ 53 ปี ศึกษานิเทศก์ สำนักงานพื้นที่การศึกษา (สพท.) ปัตตานี เขต 3 อ.สายบุรี ถูก 2 คนร้ายซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ใช้อาวุธปืนจำนวน 2 นัด ขณะเดินเล่นอยู่หน้าบ้านพัก พื้นที่หมู่ที่ 2 บ้านสาละวัน ต.ไทรทอง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี จนเสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาล


เกิดเหตุปล้นเวชภัณฑ์ จากศูนย์สาธารณสุขเทศบาลเมืองเบตง จ.ยะลา จำนวน 21 รายการเจ้าหน้าที่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวกลุ่มแนวร่วม พบว่าแนวร่วมได้กระจายกำลังออกกว้านซื้อยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงบุกงัดแงะและขโมยยา อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์พื้นฐาน ตามสถานีอนามัยและศูนย์สาธารณสุขในแต่ละพื้นที่




4 กันยายน 2550 นางนิภาภรณ์ นาคทอง อายุ 59 ปี พัฒนากร อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ถูกคนร้าย 2 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ตามประกบยิงขณะกำลังมุ่งหน้ากลับบ้านพักที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี บริเวณหน้าโรงเรียนบ้านทรายขาว ริมถนนสายทุ่งยางแดง-กลาพอ หมู่ที่ 2 บ้านปาเซปูเต๊ะ ต.ปากู อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี จนเสียชีวิต

นายสุวิทย์ วงศ์สนิท อายุ 35 ปี อาจารย์อัตราจ้างวิทยาลัยเทคนิคปัตตานี ถูก 2 คนร้ายขี่รถจักรยานยนต์ประกบยิง เสียชีวิตบนถนนสายปัตตานี-หนองจิก หมู่ที่ 7 ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

นัยสำคัญของเหตุการณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ ความเปลี่ยนแปลงต่อเหยื่อความรุนแรง ซึ่งเป็น "เป้าหมาย" ใหม่ที่อ่อนแอและเป็น "สัญญะ" ของผู้บริสุทธิ์ตามการรับรู้ทั่วไปในสังคมดังกรณีของ "นักศึกษา" เป็นผู้อุทิศตนเพื่อสังคมในกรณีของ "บุคลากรทางการศึกษา" และผู้ดำรงความเป็นกลางอย่างเท่าเทียมในกรณีของ "บุคลากรสาธารณสุข" ซึ่งมิใช่เป้าหมายที่เป็นคู่ปฏิปักษ์ที่ต้องสู้รบ

ขณะที่นัยสำคัญเชิงพื้นที่ คือ เหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นใน จ.ปัตตานี ซึ่งอยู่นอกพื้นที่เปิดยุทธการปราบปรามกับผู้ก่อความไม่สงบ

แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดของ "กลุ่มใต้ดิน" คนดังกล่าววิเคราะห์ต่อว่า การจำกัดพื้นที่อย่างแข็งแกร่งเช่นนี้จะส่งผลให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบต้องปรับยุทธวิธีด้วยการทำร้ายอย่างไม่จำกัดเพศ วัย กลุ่มอาชีพ และกระจายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้เข้มงวดนัก และเป้าหมายจะไม่จำเพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อปลุกปั่นสถานการณ์ให้ยากที่จะควบคุม

"พวกเขาจะฆ่าไม่เลือกเพราะต้องการให้เกิดความอลหม่านวุ่นวายให้มากที่สุด" แหล่งข่าวกล่าว

นายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) วิเคราะห์ว่า ลักษณะพื้นที่เหล่านี้เกิดใน จ.ปัตตานี เพราะเป็นพื้นที่ที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ยังไม่มีการเปิดยุทธการ จึงมีการกระจายตัวเข้ามาสู่เขตดังกล่าว และกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเลือกจะเอากลุ่มเป้าหมายนี้บอบบางและอ่อนไหว (soft target) เป็นเหยื่อใหม่ๆ เช่น พัฒนากร สาธารณสุข ศึกษานิเทศก์ ซึ่งไม่มีความสามารถในการปกป้องตนเอง

“ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ เพราะสิ่งที่เราต้องเข้าไปปกป้องมีมาก ไม่รวมสถานที่ สิ่งของสิ่งก่อสร้าง คนที่เราต้องดูนี่คือคนจำนวน 2 ล้านคนที่อยู่ในพื้นที่ เพราะฉะนั้นผู้ที่ดูแลก็จะเหนื่อยมาก เพราะกลุ่มเป้าหมายมันกว้าง”

ผอ.ศอ.บต. มองว่า แม้การก่อเหตุที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะน้อยลง แต่ก็เป็นเพียงในเชิงปริมาณเท่านั้น แต่ในเชิงคุณภาพนั้นต้องทำการเฝ้าระวังให้มากขึ้น เพราะแม้การก่อเหตุจะน้อยลงแต่หากต้องสูญเสียบุคลากรที่มีความสำคัญ ก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรที่จะปล่อยให้เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม เขามองว่าการดำเนินยุทธวิธีของผู้ก่อความไม่สงบเช่นนี้ไม่ได้เป็นไปอย่างไร้ทิศทาง ถือได้ว่าเป็นยุทธวิธีหนึ่งที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบพลิกแพลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มจับรูปแบบได้หรือตามทัน อีกฝ่ายก็จะเปลี่ยนทันที สิ่งที่สำคัญจึงต้องใช้ความอดทนและอย่าให้ความเคยชินในชีวิตประจำวันมาทำให้เกิดความประมาท เพราะเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

"จะไปวิเคราะห์ว่าเขาสะเปะสะปะคงไม่ได้ เพราะเราจะต้องประเมินฝ่ายตรงกันข้ามสูงกว่าเราเสมอ ต้องไม่ลืมว่าเราไม่ได้ต่อสู้อยู่กับคนโง่ แต่ไม่ใช่ระวังไปจนถึงขั้นว่าเกร็งไปหมด และต้องรอบคอบให้มาก ต้องมีการประเมินสถานการณ์ทุกระยะ และใช้ฐานข้อมูลประกอบให้มากขึ้น"

นายปัญญศักย์ โสภณวสุ นักวิจัยโครงการความมั่นคงศึกษาให้ความเห็นว่า เป้าหมายที่ถูกผู้ก่อความไม่สงบทำร้าย แต่ละคนถูกคัดเลือกอย่างมีแบบแผน แต่ละบุคคลที่ถูกทำร้ายจะมีคำอธิบายกำกับให้เห็นถึงความชอบธรรมในการที่จะปฏิบัติการในแต่ละครั้ง ซึ่งต้องใช้ความพยายามถอดรหัสปฏิบัติการนั้นให้ได้

"เป้าหมายที่ถูกเลือกมีคำตอบอยู่ในตัว แต่จะต้องสืบสาวไปให้ได้ว่าเหยื่อที่ถูกทำร้ายหากวิเคราะห์ให้ดีจะพบว่าเหยื่อหลายรายมีสายสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นศัตรูของขบวนการ เช่น เป็นลูกของเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจ และเหยื่อบางคนก็มีข้อกังขาว่ามีพฤติกรรมเป็นสายลับ ซึ่งพวกเขาไม่ลังเลที่จะกำจัด"

ด้าน นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการสันติวิธีและอดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ กล่าวว่า เป็นการยากที่จะตีความว่าการทำร้ายเป้าหมายที่ขยายไปหลายกลุ่มมากขึ้นนั้นมีความหมายถึงอะไร เช่นเดียวกับการพยายามแสวงหาคำตอบว่า การเผาโรงเรียนนั้นหมายถึงอะไร แต่ส่วนหนึ่งน่าจะหมายถึงการแสดงอำนาจให้ชาวบ้านตกอยู่ในความหวาดกลัวว่าทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรง

"ผมมองว่ามันเป็นการกระทำที่สะเปะสะปะ เป็นการรบที่ไม่มีกฎเกณฑ์ เป็นการทำเพื่อทำลายขวัญของประชาชนให้รู้สึกหวาดกลัว เป็นการแสดงให้เห็นว่าความรุนแรงสามารถที่จะเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่เท่าๆ กัน"

อดีต กอส. กล่าวอีกว่า หลายฝ่ายคงต้องร่วมกันคิดเพื่อแสวงหาคำตอบเพื่อนำไปสู่การเฝ้าระวังและป้องกัน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลให้มากขึ้น

เพราะไม่ว่าใครในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างก็ต้องยืนอยู่บนความ "เสี่ยง" อย่างเท่าเทียม

**************





ผู้ติดตาม