Cultural Studies

PSU: Cultural Studies Group

วันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

“การครองความเป็นเจ้า” (Hegemony)



แนวคิดเรื่อง “การครองความเป็นเจ้า” (Hegemony) ถูกนำเสนอขึ้นโดยนักคิดแนวมาร์กซิสต์ ชาวอิตาเลียน ชื่อ Antonio Gramsci (1891-1937) โดยปรากฏอยู่ในบันทึกของที่เขาเขียนขึ้นระหว่างที่คุมขังชื่อ Prison Notebooks (1929 – 1935) ซึ่งต่อมามีการตีความหมายความคิดโดยนักวิชาการรุ่นหลังอย่างกว้างขวาง

การพัฒนาแนวคิดการครองความเป็นเจ้านี้ เป็นการพัฒนาความคิดมาจากแนวคิดของมาร์กซ์ เกี่ยวกับการควบคุมการผลิตและการถ่ายทอดอุดมการณ์ในมือของผู้เป็นเจ้าของทุนของปัจจัยการผลิต ดังที่ Marx และ Engel (1938:37, quoted in Murdock and Golding, 1983: 15) ได้เขียนไว้ในตอนหนึ่งของหนังสือ The German Ideology ถึงชนชั้นปกครองในทุกช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ว่า

“ชนชั้นที่มีปัจจัยการผลิตวัตถุ (means of material production) จะมีอำนาจควบคุมปัจจัยทางการผลิตทางความคิด(means of mental production) ด้วยในขณะเดียวกัน หากกล่าวโดยทั่วไปแล้ว ความคิดของผู้ที่ไม่มีปัจจัยการผลิตทางความคิด มักจะต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ที่มีทั้งปัจจัยการผลิตทางวัตถุและทางความคิด ดังนั้นผู้ปกครองในฐานะชนชั้นหนึ่ง คือผู้ที่ตัดสินใจในการกำหนดขอบเขตและทิศทางของยุคสมัยหนึ่งๆ ด้วย จึงจะเห็นได้ชัดว่า ผู้ปกครองคือผู้ตั้งเกณฑ์การผลิตและถ่ายทอดอุดมการณ์ ในยุคของพวกเขาออกไป ฉะนั้นความคิดของเขาจึงเป็นความคิดที่ควบคุมยุคสมัยนั้นอยู่นั่นเอง”

ในขณะเดียวกันมาร์กซ์ ได้แบ่ง “ระดับ” (levels) ของโครงสร้างทางสังคมออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน คือโครงสร้างส่วนบน (Superstructure) หรือโครงสร้างในระดับการเมือง-กฎหมายและโครงสร้างส่วนล่าง (Infrastructure) หรือฐานเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามในความคิดของมาร์กซิสต์แบบดั้งเดิมนั้น มีความเห็นว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดปัจจัยส่วนบน (กาญจนา แก้วเทพ : 2543: 131)

แต่สำหรับ Gramsci เขาจัดเป็นนักมาร์กซิสต์ รุ่นใหม่ ที่รื้อฟื้นความสนใจและพัฒนาปัญหาเรื่องโครงสร้างส่วนบน (กาญจนา แก้วเทพ, 2526: 105) และขณะเดียวกัน เขาก็เห็นว่า ในบางครั้งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจก็อาจถูกกำหนดโดยรัฐ ซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนบนเช่นกัน ความสัมพันธ์ของโครงสร้างทั้งสอง มิใช่โครงสร้างหนึ่งจะกำหนดความเป็นไปอีกโครงสร้างหนึ่ง แต่ทั้งสองต่างเป็นปัจจัยกำหนดซึ่งกันและกัน

Gramsci ยังได้แบ่งองค์ประกอบของโครงสร้างส่วนบนออกเป็น 2 ส่วน คือ ประชาสังคมหรือสังคมพลเมือง (Civil Society) กับสังคมการเมือง หรือรัฐ (Political or State Society) ประชาสังคมคือส่วนที่รัฐไม่มีอำนาจผูกขาด รัฐต้องผลิตอุดมการณ์เพื่อสร้างความชอบธรรม ดังนั้นประชาสังคมจึงเป็นเครื่องมือสร้างความยินยอม (consent) ส่วนสังคมการเมืองหมายถึง แหล่งที่ผูกขาดอำนาจโดยรัฐ ซึ่งมิใช่การแสวงหาความยินยอม แต่เป็นการบังคับกดขี่ (coercion) Gramsci เชื่อว่า การที่ชนชั้นหนึ่งจะมีชัยชนะเด็ดขาดสมบูรณ์ได้นั้น จำเป็นต้องมีความยินยอมจากสมาชิกของสังคมมากกว่าการบังคับกดขี่ เพราะฉะนั้นในทัศนะของ Gramsci แล้ว “...ประชาสังคมเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุด ที่ชนชั้นหนึ่งจะสามารถครองความเป็นใหญ่อย่างสมบูรณ์ได้ หากสามารถเข้ามาครอบงำมีอิทธิพลเหนือประชาสังคมได้”

การครองความเป็นเจ้าของในความหมายข้างต้น จึงหมายถึงความสามารถในการเอาชนะใจชนชั้นที่ถูกปกครอง ให้ยอมรับในอุดมการณ์ของชนชั้นปกครอง หรือเป็นปฏิบัติการในอันที่จะทำให้ผู้ที่ถูกชนชั้นปกครอง ถูกจูงใจให้ยอมรับในระบบความเชื่อ (Beliefs) และนำความเชื่อนั้นไปพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งในค่านิยมทางสังคม วัฒนธรรม และศีลธรรมของพวกเขาเองด้วย (Carnoy, 1984:87 อ้างใน สมสุข หินวิมาน, 2534)

สิ่งหนึ่งที่ Gramsci อธิบายถึงการที่ชนชั้นปกครองจะเอาชนะความคิดความรู้สึกยินยอมพร้อมใจของชนชั้นล่างและผลักดันความคิดดั้งเดิมที่ครอบงำพวกเขาอยู่ก็คือ สิ่งที่เขาเรียกว่า “สงครามชิงพื้นที่ทางความคิด” ซึ่งเป็นสงครามในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไปและเป็นส่วนสำคัญในการครอบครองความเป็นเจ้าทางอุดมการณ์ เพราะแท้ที่จริงแล้ว การครองความเป็นเจ้าคือ การยึดความยินยอม (consent) ในประชาสังคมเป็นหลัก ในขณะที่สงครามชิงพื้นที่ความคิดเชิงความคิด ก็คือ “...การต่อสู้ในระดับอุดมการณ์ (Ideological struggle) เพื่อช่วงชิงชัยเหนือประชาสังคม เป็นลักษณะของการต่อสู้ทางอุดมการณ์ที่กินเวลานานยืดเยื้อ แต่เป็นความจำเป็นก่อนหน้าที่จะได้รับชัยชนะเหนือสังคมการเมือง (การยึดอำนาจรัฐ) หากชนชั้นหลักประสงค์ครองความเป็นใหญ่ในสังคมให้ดำรงอยู่ได้นานที่สุด เพราะจะประสบกับการต่อต้านน้อยที่สุด ทั้งจะสามารถปกครองแทนการครอบงำบีบบังคับจึงอาจกล่าวได้ว่า การต่อสู้ทางอุดมการณ์ เป็นเรื่องของการแสวงหาเรียกร้องความยินยอมเป็นหลัก (สุรพงษ์ ชัยนาม,2524 :74 อ้างใน สมสุข หินวิมาน, 2534) ซึ่งการใช้อำนาจบีบบังคับแต่เพียงอย่างเดียว ไม่อาจทำให้ชนชั้นที่ถูกปกครองยอมรับในอำนาจที่ถูกกดขี่ได้ตลอดไป จำเป็นต้องอาศัยชัยชนะในการต่อสู้ทางอุดมการณ์ ซึ่งทำให้เกิดการครองความเป็นเจ้าที่สมบูรณ์

แนวคิดเรื่อง Hegemony ในการวิเคราะห์เรื่องสื่อมวลชน Gramsci เสนอว่า การที่สังคมทุกวันนี้ยังคงสามารถสืบทอดตัวเองต่อไปได้ (reproduce) จำเป็นต้องอาศัยกลไกสังคมมาธำรงรักษาเอาไว้ โดยที่กลไกนั้นสามารถแยกออกมาได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือกลไกด้านการปราบปราม (Repressive Apparatus) เช่น กฎหมาย ตำรวจ คุก ศาล และกลไกด้านอุดมการณ์ (Ideological Apparatus) เช่น โรงเรียน ครอบครัว ศาสนาและสื่อมวลชน จากกลไกทั้ง 2 นี้ Gramsci ให้ความสนใจกับกลไกด้านอุดมการณ์มากว่า เพราะเป็นกลไกที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพทำงานอยู่ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน มีลักษณะเป็นไม้นวมมากว่าไม้แข็งและทำให้ผู้คนสามารถยอมรับได้อย่างยินยอมพร้อมใจ (consent) (กาญจนา แก้วเทพ, 2543: 142)

กลยุทธของการ Hegemony จะไม่ใช้อำนาจบังคับอย่างรุนแรง หากแต่จะใช้วิธีการนำเสนออย่าง “แบบที่ไม่ต้องมีการตั้งคำถามกันเลย” เพราะ “เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า” “เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า” “รู้กันแล้วโดยปริยาย” สำหรับพวกที่ไม่เห็นด้วยก็จะกลายเป็น “พวกผิดปกติ พวกเบี่ยงเบน พวกไม่ธรรมดา” ไป Gramsci จึงมีความเห็นว่าการ hegemony ทางด้านวาทกรรม (Discourse) ที่ปรากฏอยู่ในสื่อมวลชนนั้น น่าจะทรงพลังมากกว่าการ hegemony ทางด้านเศรษฐกิจการเมืองเสียอีก เพราะข้อความที่ปรากฏในสื่อมวลชนนั้น เป็นการให้นิยามแก่สังคม ให้นิยามชีวิต ให้นิยามกลุ่มคน ให้นิยามเหตุการณ์

ในการนี้แม้ตัวสื่อมวลชนเองอาจจะไม่ได้เป็นผู้กระทำการโดยตรง หากทว่ากลไกของสังคม สื่อมวลชนมักจะเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจเข้ามาใช้การครอบงำนี้เสียเป็นส่วนใหญ่

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

The gleaner and I: รู้จักใช้จะได้ไม่ผลาญโลก

The Gleaners โดย Jean Francois Millet

โฮมเธียร์เตอร์จอใหญ่กลางโถงห้องโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่หรือนาฬิกา ควอตส์ที่แขวนอยู่บนข้อมือ ลองถามตัวเองเล่นๆ ดูว่า หากวันนี้ของที่กล่าวนั้นใช้การไม่ได้ เราจะจัดการอย่างไรกับมัน

“ทิ้ง” คงเป็นคำตอบแรกๆ ที่เรานึกได้ ส่วนคำว่า “ซ่อม” คงเป็นคำที่เราหลงลืมไปแล้วใน ปัจจุบัน ไม่แปลกแต่อย่างใดกับภาวะขยะล้นเมือง การจัดการด้านสุขาภิบาล ถูกบรรจุหลักสูตรไว้ในสถาบันการศึกษาระดับสูงในวันนี้ เมื่อวิถีของโลกแบบบริโภคนิยม สร้างค่านิยมให้เราเลือกใช้แต่สิ่งที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด มีมาตรฐานที่เชื่อถือได้ สิ่งไหนไม่เข้าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ก็เท่ากับว่าไร้ค่า

จึงมีคำถามต่อว่า ของที่เราคิดว่า “เหลือใช้” นั้นควรคู่กับการสุมกองรวมกันที่ถังขยะเท่านั้นหรือสารคดีเชิงทดลองเรื่อง The gleaner and I คงเกิดจากคำถามคล้ายกันนี้ “แอ็กเนส วาร์ดา” ผู้กำกับหญิงชาวฝรั่งเศส วัย 72 ปี ได้คลี่พฤติกรรมดังกล่าวให้เราได้เห็น

The gleaner and I เป็นสารคดีในรูปแบบที่เรียบง่าย ตามแนวทางสารคดีแบบ Realism แต่แฝงไว้ด้วยความลึกซึ้ง เธอเริ่มตั้งคำถาม ต่อความหมายของคำว่า “glean”ด้วยการสืบค้นผ่าน Encyclopedia ซึ่งได้คำตอบว่าหมายถึง การเก็บของเหลือใช้ของชาวฝรั่งเศส ส่วน “gleaner” หมายถึง คนเก็บของเหลือใช้ ซึ่งจะกระทำภายหลังจากการเก็บเกี่ยวได้เสร็จสิ้นลง อีกนัยหนึ่งหมายถึง ความมัธยัสถ์ของชาวฝรั่งเศสอันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาชั่วนาตาปี

“แอ็กเนส วาร์ดา”
Agnès Varda นำเสนออย่างเข้าใจเพื่อค้นหาความหมายของคำว่า “gleaner” ว่าปัจจุบันกาลเวลา ได้นำพาให้ความหมายเปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร สอดแทรกแทรกด้วยอารมณ์ขันที่หยอกเอินกับความร่วงโรยของสังขารอย่างคมคาย

“แอ็กเนส วาร์ดา” กับมุมมอง “gleaner”
วาร์ดา ใช้มุมมองของตนเองในการตีความ ในระดับการรับรู้แบบจิตพิสัย (Subjectivity) ที่หลายๆ คนมองข้ามไปและเป็นเรื่องที่ไม่ใคร่น่าสนใจสักเท่าไหร่ แต่ วาร์ดา กลับใช้มุมมองในระดับที่ลึกขึ้น โดยพยายามจะสื่อให้ผู้ชมได้รับรู้ความงามในระดับ สัมพัทธ์พิสัย (Relativism) ที่มนุษย์กับวัตถุ ต่างมีความพร้อมในการรับรู้ความงามอย่างเสมอกันด้วยข้อมูลต่างๆ ที่มาสนับสนุนให้คล้อยตาม โดยไม่เทน้ำหนักไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป The gleaner and I จึงมีความหมายจากหลายมิติและหลายระดับ จากจุดยืนหลายๆ ปีก ไม่ว่าจะเป็นจาก Encyclopedia ที่เป็นเอกสารอ้างอิง, จากภาพวาด, นักกฎหมาย และ gleaner แบบต่างๆ

หากเราดูหนังทั้งเรื่องจบ แล้วจับมันมาแยกออกเป็นชิ้นๆ เพื่อให้เห็นโครงสร้างอย่างเลาๆ เราคงพอจะนึกตามเนื้อเรื่อง และเห็นความสัมพันธ์ 2 ระดับที่ วาร์ดา ได้วางเอาไว้ ภายใต้บริบทของสภาพสังคมแบบ หลังอุตสาหกรรม (Post - Industrial) อันมีภาค การผลิต และภาคการบริโภค เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ

ในระดับที่ 1 เป็นระดับของภาคการผลิต The gleaner and I พาเราให้สัมผัสกับพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ อันได้แก่ ไร่มันฝรั่งขนาดใหญ่ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบ Mass Production ทำให้ทุกอย่ามีมาตรฐานทางการผลิต โดยมีเครื่องจักรเป็นเครื่องมือหลักในการคัดแยก ขนาดของผลผลิตที่ป้อนสู่โรงงานเป็นสิ่งสำคัญ มันฝรั่งที่ไม่ได้ขนาด จะไม่ผ่านการควบคุมคุณภาพ ขนาดที่เล็กหรือใหญ่เกินขนาด จะถูกคัดแยก ทั้งๆ ที่คุณภาพหรือคุณค่าทางอาหารไม่ได้แตกต่าง ในระดับนี้ความหมายของ gleaner จึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมสักเท่าใดนัก gleaner ยังคงมีความคล้ายกับความหมายในอดีต ที่ยังสามารถเก็บเกี่ยวใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้นได้ ยังคงได้รับการยอมรับในสังคมนั้น

ระดับที่ 2 คือระดับของภาคการบริโภค อันเป็นปัจจัยสำคัญของชนชั้นกลาง ที่ไม่มีฐานการผลิตเป็นของตนเอง การดำรงชีพจึงขึ้นอยู่กับการซื้อ-ขาย เป็นหลัก ระบบการผลิตแบบ Mass Production ทำให้ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มีราคาถูกลง สิ่งของเหลือใช้หรือไร้ประโยชน์ (ในความหมายของสังคมบริโภค) จะถูกนำไปทิ้งเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ยังมีมูลค่าบางอย่างอยู่ แต่ผู้บริโภคไม่สามารถนำมาปรับปรุงหรือซ่อมแซมได้ด้วยตนเอง อีกทั้งค่านิยมในเรื่องการบริโภคของใหม่ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ จะมีคุณค่ามากกว่า ความหมายของ ของเหลือใช้จึงมีค่าเพียง “ส่วนเกินจากการผลิต” หรือ “ขยะ” เท่านั้น ความหมายของ gleaner ภายใต้บริบทนี้จึงเปลี่ยนไป ไม่ได้หมายถึงนิสัยมัธยัสถ์ของชาวฝรั่งเศสที่ยึดถือมานานอีกต่อไป การ glean จึงเกี่ยวโยงกับผู้ยากไร้และไม่มีอันจะกินในเมืองใหญ่ต้องเก็บหาอาหารมากินจากถังขยะ หรือเก็บอุปกรณ์บางอย่างที่ยังใช้งานได้ดีมาใช้

The gleaner and I ได้ฉายภาพให้เห็นว่า สังคมบริโภคในปัจจุบันล้วนผลาญทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย ตอนหนึ่ง วาร์ดา ฉายให้เห็นว่า ในถังขยะหลังซุปเปอร์มาร์เก็ต ยังมีเนื้อไก่ที่แพ็คอย่างดีและผลไม้ที่ยังไม่ช้ำ สามารถกินได้โดยไม่เกิดอันตราย ถูกทิ้งอย่างมากมาย

The gleaner and I กับการเล่าเรื่อง
วาร์ดา มีวิธีการเล่า ด้วยการเริ่มต้นเล่าเรื่อง ผ่านการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารก่อน โดยเริ่มลำดับ “นิยาม” ความหมายของสิ่งที่ตนอยากรู้และอยากศึกษา ลำดับมาตามแนวทางประวัติศาสตร์ (Chronological) แล้วจึงลงสัมผัสถึงระดับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ มีการนำวิธีการแบบ Snowballing Technique มาใช้การสืบค้นข้อมูลต่อไปเรื่อยๆ เพื่อดูถึงความเปลี่ยนไปในความหมายของ “gleaner” ว่าแปรเปลี่ยนไปตามแต่ละบริบทอย่างไร

การเล่าเรื่องของ วาร์ดา เป็นแบบผสมผสาน (Multinarrator) โดยเรื่องเล่าจะขึ้นเปิดมาด้วยแบบ Homodiegetic ที่ วาร์ดาเธอเป็นคนเล่าเรื่องเอง แล้วจึงใช้ การเล่าแบบ Heterodiegetic ที่ให้ Key Informant ต่างๆ คอยให้ข้อมูล เพื่อแสดง positioning ของตนเองว่าเป็น “นักเรียนน้อย”
ที่ต้องการจะเรียนรู้เรื่องนั้นอย่างแท้จริง อีกทั้งยังบอกกับผู้ชมอย่างเป็นนัยๆ ว่า ตนไม่ได้เป็นผู้ที่รู้ในเรื่องนี้ดีไปทั้งหมด

หากย้อนกลับไปดูในหนังในช่วงต้นๆ เมื่อ วาร์ดา รู้ความหมายของ “gleaner” เธอได้ทำการเปรียบเทียบตัวเองด้วยว่า เธอก็คือ “gleaner”เช่นกัน ด้วยการวางฟ่อนข้างบาร์เลย์ที่ทูนหัวลงแล้วหยิบกล้องแฮนดี้แคม ขึ้นมาแทนและหมายรวมไปถึงคนที่ทำงานสารคดีอื่นๆ ด้วย โดยการ “เก็บ” อาจไม่จำเป็นต้องเป็นแค่วัตถุเท่านั้น แต่อาจจะเป็นความรู้หรือประสบการณ์ก็ได้

ในระหว่างที่เรื่องกำลังดำเนินไป วาร์ดา จะพยายามการจัดหมวดหมู่ (Categories) ของสิ่งที่เธอเล่าให้เราอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ให้เรารู้ตัว ตั้งแต่ วัฒนธรรมการ “glean”ตั้งแต่อดีตถึง ปัจจุบัน ทั้งในสังคมชนบท, เกษตรกร, ยิปซีผู้เร่ร่อน, สังคมเมือง, ผู้อพยพ, ชนชั้นกลาง, คนทำงานศิลปะ พวกต่อต้านสังคม หรือผู้ซึ่งเลือกวิถีการดำเนินชีวิตของตัวเอง โดยเชื่อมต่อเนื้อเรื่อง เข้าด้วยกันด้วยการเดินทาง โดยใช้ท้องถนนแทนคำบรรยาย

การเล่าเรื่องของเธอ จะดูราวกับว่าได้เล่าเรื่องไปเรื่อยๆ เหมือนไม่ได้กำหนดโครงสร้างเอาไว้ แต่เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า เรื่องได้ถูกวางโครงสร้างมาเป็นอย่างดี ด้วยการลำดับความหมายของ “gleaner” ตั้งแต่อดีตจนปัจุบัน ความหมายได้เปลี่ยนไปอย่างไร และมีปัจจัยอะไรบ้างที่สนับสนุนให้ความหมายนั้นเปลี่ยน

โดยทัศนะส่วนตัว ผู้เขียนคิดว่าการตั้งชื่อเรื่อง The gleaner and I เป็นการแสดง ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่ง วาร์ดา เธอออกไปพบ และนำกลับมาเปรียบเทียบกับตัวของเธอเอง ซึ่งอาจจะสรุปได้ว่า “gleaner” กับตัวเธอเองนั้น ไม่ได้มีความแตกต่างกันแต่อย่างใดเลย ชื่อเรื่องจึงเป็นเป็นการบ่งบอกถึง “อัตลักษณ์” ของตัวเธออีกนัยหนึ่งด้วย

หากเราถามต่อว่า วาร์ดา ได้เก็บเกี่ยวอะไรให้กับเราบ้าง หลายๆ ครั้งในเรื่องราวที่เธอนำเสนอ เธอได้นำมุมมองที่หลายๆ คนมองข้ามทั้งๆ มีอยู่ดาษดื่นในสังคม จนถูกมองข้ามและหลงลืมแทบจะตกขอบความสนใจของสังคมนี้ไปด้วยซ้ำ ด้วยเหตุผลนี้ทำให้นักเรียนการสื่อสารอย่างเราได้ตระหนักต่อการเลือกมุมมองในนำเสนอและผลิตรายการสารคดีว่า ความสำคัญของสรรพสิ่งรอบตัวที่ธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวัน (Daily life) ว่าเป็นเรื่องที่มิอาจจะมองข้าม The gleaner and I จึงมีคุณูปการในการเปิดมุมมองของการผลิตรายการสารคดี ให้กลับมามีชีวิตชีวาและสร้างสรรค์

วาร์ดา ยังเป็นนักเล่าเรื่องที่มีอารมณ์ขันอย่างมาก บ่อยครั้งในสารคดีของเธอ เราจะเห็นการหยอกล้อกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการพยายามหวีผมปกปิดสีขาวที่รุกล้ำศีรษะมาตามอายุขัย ภาพของมือที่เหี่ยวย่นด้วยภาพแบบ Close up และภาพของนาฬิกาที่ไม่มีเข็มบอกเวลา ที่มีใบหน้าเธอค่อยๆ วิ่งผ่านด้านหลัง ราวกับจะบอกว่าหากเวลาหยุดหมุนได้ก็คงดี ไม่รวมเพลงประกอบสารคดีที่เป็นเพลงแร็พ แทนที่จะเป็นเพลงคลาสสิค ตามขนบของสารคดี ซึ่งก็พอที่จะเดาได้ว่าเธอเป็นคนร่วมสมัยที่สนใจความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยอยู่ตลอดเวลา อันเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของการทำงานสารคดีและงานสื่อสารมวลชนอีกด้วย

นอกจากนี้เธอ ยังได้หลุดกรอบแนวคิดการทำสารคดีในระดับหนึ่ง เห็นได้จากตอนหนึ่งของเรื่องที่ปล่อยให้ฝาครอบกล้องขนาดพกพาของเธอ แกว่งเข้ามาในกรอบภาพ นัยว่า เป็นความสมจริงสมจัง แต่อีกนัยหนึ่งก็เป็นการกระทบกระเทียบการผลิตสารคดีว่า แม้การทำงานจะมุ่งนำเสนอความจริงแต่การตบแต่งให้ภาพดูดีตลอดเวลาก็ยังเป็นที่ต้องการ

สิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกอีกประการก็คือ วาร์ดา กำลังจะบอกอยู่ตลอดเวลา ภายใต้การหยอกล้อกับอายุของตัวเธอเองนั้นก็คือ ภาพของมือเหี่ยวย่น ที่สร้างกรอบกลมๆ ด้วยนิ้วชี้และหัวแม่มือ เหมือนกับจะบอกกับเราว่า อย่าหยุดที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากโลก อย่าหยุดความเข้าใจต่อโลกใบนี้ แม้ว่าเวลาจะพาอายุเราให้ล่วงเลยไปแค่ไหนก็ตาม เพราะการ glean คือพรแห่งธรรมชาติที่มอบให้แด่มนุษย์เพื่อความเข้าใจในสรรพสิ่ง


ผู้ติดตาม