PSU: Cultural Studies Group

วันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

“การครองความเป็นเจ้า” (Hegemony)



แนวคิดเรื่อง “การครองความเป็นเจ้า” (Hegemony) ถูกนำเสนอขึ้นโดยนักคิดแนวมาร์กซิสต์ ชาวอิตาเลียน ชื่อ Antonio Gramsci (1891-1937) โดยปรากฏอยู่ในบันทึกของที่เขาเขียนขึ้นระหว่างที่คุมขังชื่อ Prison Notebooks (1929 – 1935) ซึ่งต่อมามีการตีความหมายความคิดโดยนักวิชาการรุ่นหลังอย่างกว้างขวาง

การพัฒนาแนวคิดการครองความเป็นเจ้านี้ เป็นการพัฒนาความคิดมาจากแนวคิดของมาร์กซ์ เกี่ยวกับการควบคุมการผลิตและการถ่ายทอดอุดมการณ์ในมือของผู้เป็นเจ้าของทุนของปัจจัยการผลิต ดังที่ Marx และ Engel (1938:37, quoted in Murdock and Golding, 1983: 15) ได้เขียนไว้ในตอนหนึ่งของหนังสือ The German Ideology ถึงชนชั้นปกครองในทุกช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ว่า

“ชนชั้นที่มีปัจจัยการผลิตวัตถุ (means of material production) จะมีอำนาจควบคุมปัจจัยทางการผลิตทางความคิด(means of mental production) ด้วยในขณะเดียวกัน หากกล่าวโดยทั่วไปแล้ว ความคิดของผู้ที่ไม่มีปัจจัยการผลิตทางความคิด มักจะต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ที่มีทั้งปัจจัยการผลิตทางวัตถุและทางความคิด ดังนั้นผู้ปกครองในฐานะชนชั้นหนึ่ง คือผู้ที่ตัดสินใจในการกำหนดขอบเขตและทิศทางของยุคสมัยหนึ่งๆ ด้วย จึงจะเห็นได้ชัดว่า ผู้ปกครองคือผู้ตั้งเกณฑ์การผลิตและถ่ายทอดอุดมการณ์ ในยุคของพวกเขาออกไป ฉะนั้นความคิดของเขาจึงเป็นความคิดที่ควบคุมยุคสมัยนั้นอยู่นั่นเอง”

ในขณะเดียวกันมาร์กซ์ ได้แบ่ง “ระดับ” (levels) ของโครงสร้างทางสังคมออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน คือโครงสร้างส่วนบน (Superstructure) หรือโครงสร้างในระดับการเมือง-กฎหมายและโครงสร้างส่วนล่าง (Infrastructure) หรือฐานเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามในความคิดของมาร์กซิสต์แบบดั้งเดิมนั้น มีความเห็นว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดปัจจัยส่วนบน (กาญจนา แก้วเทพ : 2543: 131)

แต่สำหรับ Gramsci เขาจัดเป็นนักมาร์กซิสต์ รุ่นใหม่ ที่รื้อฟื้นความสนใจและพัฒนาปัญหาเรื่องโครงสร้างส่วนบน (กาญจนา แก้วเทพ, 2526: 105) และขณะเดียวกัน เขาก็เห็นว่า ในบางครั้งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจก็อาจถูกกำหนดโดยรัฐ ซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนบนเช่นกัน ความสัมพันธ์ของโครงสร้างทั้งสอง มิใช่โครงสร้างหนึ่งจะกำหนดความเป็นไปอีกโครงสร้างหนึ่ง แต่ทั้งสองต่างเป็นปัจจัยกำหนดซึ่งกันและกัน

Gramsci ยังได้แบ่งองค์ประกอบของโครงสร้างส่วนบนออกเป็น 2 ส่วน คือ ประชาสังคมหรือสังคมพลเมือง (Civil Society) กับสังคมการเมือง หรือรัฐ (Political or State Society) ประชาสังคมคือส่วนที่รัฐไม่มีอำนาจผูกขาด รัฐต้องผลิตอุดมการณ์เพื่อสร้างความชอบธรรม ดังนั้นประชาสังคมจึงเป็นเครื่องมือสร้างความยินยอม (consent) ส่วนสังคมการเมืองหมายถึง แหล่งที่ผูกขาดอำนาจโดยรัฐ ซึ่งมิใช่การแสวงหาความยินยอม แต่เป็นการบังคับกดขี่ (coercion) Gramsci เชื่อว่า การที่ชนชั้นหนึ่งจะมีชัยชนะเด็ดขาดสมบูรณ์ได้นั้น จำเป็นต้องมีความยินยอมจากสมาชิกของสังคมมากกว่าการบังคับกดขี่ เพราะฉะนั้นในทัศนะของ Gramsci แล้ว “...ประชาสังคมเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุด ที่ชนชั้นหนึ่งจะสามารถครองความเป็นใหญ่อย่างสมบูรณ์ได้ หากสามารถเข้ามาครอบงำมีอิทธิพลเหนือประชาสังคมได้”

การครองความเป็นเจ้าของในความหมายข้างต้น จึงหมายถึงความสามารถในการเอาชนะใจชนชั้นที่ถูกปกครอง ให้ยอมรับในอุดมการณ์ของชนชั้นปกครอง หรือเป็นปฏิบัติการในอันที่จะทำให้ผู้ที่ถูกชนชั้นปกครอง ถูกจูงใจให้ยอมรับในระบบความเชื่อ (Beliefs) และนำความเชื่อนั้นไปพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งในค่านิยมทางสังคม วัฒนธรรม และศีลธรรมของพวกเขาเองด้วย (Carnoy, 1984:87 อ้างใน สมสุข หินวิมาน, 2534)

สิ่งหนึ่งที่ Gramsci อธิบายถึงการที่ชนชั้นปกครองจะเอาชนะความคิดความรู้สึกยินยอมพร้อมใจของชนชั้นล่างและผลักดันความคิดดั้งเดิมที่ครอบงำพวกเขาอยู่ก็คือ สิ่งที่เขาเรียกว่า “สงครามชิงพื้นที่ทางความคิด” ซึ่งเป็นสงครามในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไปและเป็นส่วนสำคัญในการครอบครองความเป็นเจ้าทางอุดมการณ์ เพราะแท้ที่จริงแล้ว การครองความเป็นเจ้าคือ การยึดความยินยอม (consent) ในประชาสังคมเป็นหลัก ในขณะที่สงครามชิงพื้นที่ความคิดเชิงความคิด ก็คือ “...การต่อสู้ในระดับอุดมการณ์ (Ideological struggle) เพื่อช่วงชิงชัยเหนือประชาสังคม เป็นลักษณะของการต่อสู้ทางอุดมการณ์ที่กินเวลานานยืดเยื้อ แต่เป็นความจำเป็นก่อนหน้าที่จะได้รับชัยชนะเหนือสังคมการเมือง (การยึดอำนาจรัฐ) หากชนชั้นหลักประสงค์ครองความเป็นใหญ่ในสังคมให้ดำรงอยู่ได้นานที่สุด เพราะจะประสบกับการต่อต้านน้อยที่สุด ทั้งจะสามารถปกครองแทนการครอบงำบีบบังคับจึงอาจกล่าวได้ว่า การต่อสู้ทางอุดมการณ์ เป็นเรื่องของการแสวงหาเรียกร้องความยินยอมเป็นหลัก (สุรพงษ์ ชัยนาม,2524 :74 อ้างใน สมสุข หินวิมาน, 2534) ซึ่งการใช้อำนาจบีบบังคับแต่เพียงอย่างเดียว ไม่อาจทำให้ชนชั้นที่ถูกปกครองยอมรับในอำนาจที่ถูกกดขี่ได้ตลอดไป จำเป็นต้องอาศัยชัยชนะในการต่อสู้ทางอุดมการณ์ ซึ่งทำให้เกิดการครองความเป็นเจ้าที่สมบูรณ์

แนวคิดเรื่อง Hegemony ในการวิเคราะห์เรื่องสื่อมวลชน Gramsci เสนอว่า การที่สังคมทุกวันนี้ยังคงสามารถสืบทอดตัวเองต่อไปได้ (reproduce) จำเป็นต้องอาศัยกลไกสังคมมาธำรงรักษาเอาไว้ โดยที่กลไกนั้นสามารถแยกออกมาได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือกลไกด้านการปราบปราม (Repressive Apparatus) เช่น กฎหมาย ตำรวจ คุก ศาล และกลไกด้านอุดมการณ์ (Ideological Apparatus) เช่น โรงเรียน ครอบครัว ศาสนาและสื่อมวลชน จากกลไกทั้ง 2 นี้ Gramsci ให้ความสนใจกับกลไกด้านอุดมการณ์มากว่า เพราะเป็นกลไกที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพทำงานอยู่ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน มีลักษณะเป็นไม้นวมมากว่าไม้แข็งและทำให้ผู้คนสามารถยอมรับได้อย่างยินยอมพร้อมใจ (consent) (กาญจนา แก้วเทพ, 2543: 142)

กลยุทธของการ Hegemony จะไม่ใช้อำนาจบังคับอย่างรุนแรง หากแต่จะใช้วิธีการนำเสนออย่าง “แบบที่ไม่ต้องมีการตั้งคำถามกันเลย” เพราะ “เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า” “เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า” “รู้กันแล้วโดยปริยาย” สำหรับพวกที่ไม่เห็นด้วยก็จะกลายเป็น “พวกผิดปกติ พวกเบี่ยงเบน พวกไม่ธรรมดา” ไป Gramsci จึงมีความเห็นว่าการ hegemony ทางด้านวาทกรรม (Discourse) ที่ปรากฏอยู่ในสื่อมวลชนนั้น น่าจะทรงพลังมากกว่าการ hegemony ทางด้านเศรษฐกิจการเมืองเสียอีก เพราะข้อความที่ปรากฏในสื่อมวลชนนั้น เป็นการให้นิยามแก่สังคม ให้นิยามชีวิต ให้นิยามกลุ่มคน ให้นิยามเหตุการณ์

ในการนี้แม้ตัวสื่อมวลชนเองอาจจะไม่ได้เป็นผู้กระทำการโดยตรง หากทว่ากลไกของสังคม สื่อมวลชนมักจะเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจเข้ามาใช้การครอบงำนี้เสียเป็นส่วนใหญ่

ไม่มีความคิดเห็น:

ผู้ติดตาม